เพื่อตอบโจทย์สร้างความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติด้านพลังงานสะอาด รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งนำเสนอนโยบายพลังงานของประเทศไทยจะมีทิศทางอย่างไร เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้เห็นทิศทางนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้ฉายภาพทิศทางนโยบายพลังงานของประเทศไทยในหัวข้อ “รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน”ว่า ช่วงหลังจะได้ยินเรื่องความยั่งยืน แต่ได้คิดอยู่เรื่อยมาว่าความยั่งยืนหมายถึงความยั่งยืนอะไร หรือถึงใคร ความยั่งยืนด้านพลังงาน คือ ความยั่งยืนผู้ประกอบการ หรือประชาชนผู้ใช้พลังงาน ซึ่งไม่เคยมีใครมาพูดใช้คำกลางด้านความยั่งยืน แต่ความจริง ทั้งสองประเภทไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความยั่งยืนผู้ประกอบการคือได้กำไร ได้ราคาสูง แต่ประชาชน คือ ราคาตํ่า แต่เป็นความยั่งยืนของใคร จะทำอย่างไรให้เจอกันตรงกลางและไปด้วยกันได้ และทางรอดของธุรกิจจะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ความยั่งยืนอยู่ตรงไหน

หลายประเทศหลายบริษัทลงทุนจะดูประเทศนั้น ๆ เพราะค่าไฟถูก ตอนนี้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้นทุกวัน เป็นต้นทุนธุรกิจ เพราะฉะนั้นธุรกิจที่เกี่ยวกับใช้ไฟฟ้าเยอะ ถ้าไม่ลดต้นทุนธุรกิจก็ไปไม่รอด ธุรกิจหรือนักลงทุนหลายบริษัท จะเลือกลงทุนที่ไหน จะดูค่าไฟฟ้าก่อน

ชี้เวียดนามค่าไฟถูกเหตุใช้ถ่านหินเยอะ

แต่ละประเทศที่มีความแตกต่าง ค่าใช้จ่ายไฟฟ้าแตกต่าง มาจากต้นทุนผลิตไฟฟ้า เช่น ประเทศเวียดนามค่าไฟถูก เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าตํ่า ใช้ถ่านหินเยอะ ต้นทุนตํ่ามาก แม้ประเทศไทยมีใช้อยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้ใช้แก๊สเป็นหลัก เป็นต้นทุนแพง เพราะพลังงานสะอาดมีราคา ไม่ได้ได้มาฟรี ได้อย่างเสียอย่าง เพราะพลังงานสะอาดต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นประเทศมีแต่มลพิษ พยายามให้ลดน้อยลง การต้องเปลี่ยนจะเกิดค่าใช้จ่าย

ขณะที่ ประเทศไทยเจอปัญหาต้นทุนไฟฟ้าสูงขึ้น เกิดการด้อยการแข่งขันระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย บางครั้งศักยภาพการแข่งขันไทยสู้ต่างประเทศไม่ได้ จึงต้องหาแรงจูงใจอื่นดึงดูดการลงทุน ด้านความท้าทายรัฐบาลและผู้ประกอบการที่ต้องใช้ไฟฟ้าเยอะนั้น ที่สำคัญทำอย่างไรให้พลังงานสะอาด ยั่งยืน และทางรอดธุรกิจไปด้วยกันได้

ในประเทศไทย พลังงานสะอาดมี 3 อย่างคือ 1.การผลิตไฟฟ้าจากนํ้า 2.ผลิตจากลม 3.ผลิตจากแสงแดด คือ พลังงานสะอาด เกิดไฟฟ้าสะอาด แต่ทั้ง 3 อย่าง ในไทยอันดับแรก ผลิตจากลมมีบ้างแต่ไม่เยอะ ระบบกังหันหมุนเกิดไฟฟ้ามีจำกัดในไทย และในทะเลอ่าวไทยไม่ค่อยมีลม จึงไม่เพียงพอผลิตพลังงานสะอาดจากลม

ผลิตจากนํ้า ไทยนํ้าล้นนํ้าท่วม แต่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากนํ้าได้เพราะนํ้าไม่เพียงพอ เขื่อนที่มีไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่กักเก็บนํ้าเพื่อเกษตรกรในหน้าแล้ง ไม่ได้ปล่อยนํ้าทุกวัน ปล่อยช่วงนํ้าล้นและเกษตรกรต้องการใช้นํ้า จึงไม่ได้นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้เต็มที่

แสงแดดคำตอบพลังงานสะอาดของไทย

พลังงานในประเทศไทยอย่างเดียวที่ผลิตไฟฟ้าได้ คือ แสงแดด เพราะแสงแดดในไทยเพียงพอ โดยในอนาคตความยั่งยืนพลังงานสะอาดมาจากแสงแดด ได้มอบนโยบายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถ้ามาผลิตไฟฟ้าจากแก๊สอยู่แบบนี้ต้นทุนสูง เพราะต้องนำเข้าแก๊ส LNG จากต่างประเทศ เอามาจากแก๊สอ่าวไทยได้บ้างแต่ไม่พอ ทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูง และต้นทุนราคาค่อนข้างผันผวน จึงต้องมาทบทวนปรับราคาค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ทำให้เป็นต้นทุนผู้ประกอบการ เพราะถ้าค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่สามารถคำนวณได้ว่า ต้นทุนผู้ประกอบการเป็นเท่าไร กระทบความอยู่รอดกิจการ

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ อย่างน้อยค่าไฟลงไม่ได้ ก็อย่าขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตลอดปีนี้ สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายด้านธุรกิจได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบริหารจัดการหลายปัจจัย

“ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ การผลิตไฟฟ้ามาจากเอกชนเก็บไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ แต่ไทยผลิตจากก๊าซและมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นทุนสูง ถ้าภาครัฐไม่คิดเรื่องนี้จะเป็นปัญหาทางรอดธุรกิจ มองว่าการที่ธุรกิจไปรอดอยู่ได้ยั่งยืน ต้องกลับมาใช้พลังงานสะอาด ในความเป็นจริงถ้าไทยควบคุมต้นทุนผลิตด้านไฟฟ้าได้ ลดมลภาวะ ลดต้นทุน ต้องช่วยกันผลิตไฟฟ้าเอง ถ้ากิจการใช้ไฟฟ้าเยอะ ถ้าผลิตไฟฟ้าเองจากแสงแดด จะกำหนดทางรอดธุรกิจของตนเองได้ กำหนดค่าไฟฟ้าที่ประกอบธุรกิจเองได้”

รับไทยเงื่อนไขยุบยับดูยากไปหมด

“พีระพันธุ์” ยอมรับว่า ในประเทศไทยยาก เพราะทุกอย่างห้ามหมด ทำอะไรก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต และใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี และพลังงานสะอาด ความยั่งยืนทางรอดธุรกิจจะรอดได้อย่างไร เพราะแต่ละหน่วยราชการ หลายกระทรวงออกกฎเกณฑ์ กติกา ออกระเบียบหลายด้านเป็นข้อจำกัดในไทย

“กฎเกณฑ์กติกาเป็นปัญหาธุรกิจไทย ถ้าปล่อยให้อยู่แบบนี้ ไม่มีใครรอด รัฐบาลก็ไปไม่รอด จึงจำเป็นต้องใช้ รื้อ ลด ปลดสร้างมาใช้ โดยตลอดเวลาที่ทำ รื้อทั้งหมด กฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม และในฐานะรองนายกฯ ดูกระทรวงอุตฯ สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สั่งการแก้กฎกระทรวงอุตสาหกรรม รอเข้าครม.อยู่ เช่น การใช้ไฟฟ้าไม่ต้องขอใบ รง.4 สำหรับใช้ไฟฟ้าในบ้านและสถานประกอบการ แต่กฎกระทรวงไม่แน่นอน เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็เปลี่ยนกฎได้”

ถ้าอยากให้ยั่งยืนมากกว่านี้ คือ ต้องรื้อทั้งระบบออกกฎหมาย คำถามคือจะติดไฟในบ้านทำไมถึงต้องไปขอกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องไปอีกหลายหน่วยงาน เช่น อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไปกทม. อยู่ต่างจังหวัดก็ไปองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพราะว่าถ้าติดหลังคาเดี๋ยวหลังคาพัง แต่ทำไมไม่เปลี่ยนจากขออนุญาตเป็นแจ้งให้ทราบ ทำไมต้องให้ชีวิตคนยุ่งยาก ถ้ารื้อระบบแบบนี้ได้จะทำให้ลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการ ถ้าไม่ใช่ติดเพื่อขายไฟ แต่ต้องเป็นติดเพื่อใช้ในอาคารบ้านเรือนหรือสถานประกอบการ เพื่อควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย ลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าหลัก สร้างพลังงานสะอาดด้วย ทำไมต้องห้าม ไม่ได้เดือดร้อนใคร

สั่งรื้อทุกอุปสรรคสร้างความสะดวก

“ทำไมต้องขออนุญาต กระทรวงอุตสาหกรรม กทม. กฟภ. กฟน. ให้ทำอย่างไรก็บอก อยากติดก็ทำตามนี้ จบ และมาตรวจสอบว่าทำตามนี้หรือไม่ โตแล้ว ตอนพวกเราเด็ก ๆ จะออกข้างนอกก็ต้องขออนุญาต ถูก เป็นธรรมดา เพราะยังเด็ก บอกคุณพ่อจะไปนู่น บอกคุณแม่จะไปนี่ แต่วันนี้ 50-60 ปี เป็นเจ้าของกิจการต้องไปบอกไหม และทำไมระบบประเทศไทย เลี้ยงประชาชนเหมือนเด็ก 6 ขวบไม่โตสักที แบบนี้สมควรรื้อทิ้งหรือไม่ เพื่อลดภาระและปลดทิ้งต่าง ๆ ที่เป็นพันธนาการชีวิต และสร้างระบบสังคม สร้างกฎหมายร่วมกันที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าควบคุมไปทุกอย่าง เกิดปัญหาพลังงานสะอาด เรื่องความยั่งยืนและเรื่องของความอยู่รอดธุรกิจ”

รองนายกฯและรมว.พลังงาน ยํ้าว่า การรื้อ ลด ปลด สร้าง รื้อระบบสร้างกฎหมายใหม่ เพื่อทำให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ประกอบการมีความยั่งยืน และที่สำคัญคือปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าเข้ามาในชีวิตเยอะมาก อย่างรถไฟฟ้าอีวี ยอดขายเป็นแสนคัน อีกไม่นานเป็นล้านคันแน่นอน ถ้าไม่เร่งแก้ไขปัญหาผลิตไฟฟ้าได้เอง จะเป็นภาระหลักประเทศ

ทางรอดของธุรกิจและประชาชน คือ ต้องปรับรื้อระบบ กฎหมาย และวางระบบที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าประชาชน ธุรกิจ ทุกคน ไม่ต้องพึ่ง 4 เดือน ภาวนาให้ควบคุมได้ ชีวิตไปขึ้นอยู่กับอีกไม่กี่คนและไม่กี่หน่วยงาน เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหา

“ส่วนตัวผมวาระทุก 4 ปีการเลือกตั้ง ไม่รู้อนาคต แต่รู้วันนี้ 4 ปีข้างหน้าผมอาจเป็นประชาชน ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจหน้าที่ ถ้าวันนี้มีตำแหน่งหน้าที่จะคิดแก้ปัญหา จะพยายามทำหน้าที่แก้ไขปัญหาตรงนี้ให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจและประชาชนควบคู่กันไปให้ได้และช่วยสร้างพลังงานสะอาดให้กับประเทศ” พีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย.