ในยุคแห่งการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า พวกเขาได้ตั้งเป้าที่จะปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและการผลิตเสียใหม่ ในชื่อของ วิชั่น 80 (Vision80) หรือ วิสัยทัศน์ สำหรับการครบรอบ 80 ปีของโลตัส! เป้าหมายก็คือการเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำด้านสมรรถนะการขับขี่ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ดังที่เราได้เห็นจาก การเปิดตัว รถยนต์พลังไฟฟ้า 2 รุ่นของพวกเขาอย่าง เอมิญ่า (Emeya) และ เอเลทรา (Eletre)
แน่นอนว่า พวกเขาทำยอดขายรถเก๋งและเอสยูวี พลังไฟฟ้าได้ดีไม่น้อย ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารยุคปัจจุบัน ทีนอกจากจะสร้างรถสปอร์ตพลังไฟฟ้าที่มีอัตราเร่งและความเร็วที่หนักหน่วงและรุนแรงตามมาตรฐานรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ มันยังทรงตัวและขับสนุกในสไตล์สปอร์ตอีกด้วย แต่หากจะยกระดับให้สูงขึ้นให้มันเป็นซุปเปอร์คาร์ไฟฟ้า ในมาตรฐานของโลตัส พันธ์แท้ล่ะ มันจะเป็นไปได้ด้วยวิธีใดกันเล่า?
คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ รถแนวคิดคันแรกในรอบทศวรรษของพวกเขา “โลตัส เธียวรี วัน” ( Lotus Theory 1) หรือ ทฤษฏีบทที่ 1 ของโลตัส ที่ว่าด้วยการออกแบบรถยนต์สปอร์ตไฟฟ้ายุคใหม่นั่นเอง (และอาจจะมีทฤษฏีบทที่ 2 ตามมาในภายหลังก็เป็นไปได้)
เธียวรี วัน ได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่า DNA ใหม่ของโลตัส ซึ่งในที่นี้นอกจากจะมีความหมายถึงพันธุกรรมแล้ว มันยังหมายถึง D= ดิจิตัล (Digital) N= เนเชอรัล (Natural) หรือธรรมชาติ และ A= อนาล็อค (Analogue)
คำว่า ดิจิตัล ในที่นี้พวกเขาต้องการแสดงออกถึงการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การขับขี่ ส่วน คำว่า เนเชอรัล หรือธรรมชาติ นั้นจะหมายความถึงการให้มนุษย์เป็นศุนย์กลางของการออกแบบ และท้ายสุด อนาล็อค ก็คือภูมิปัญญาทางวิศวกรรมที่สามารถรีดสมรรถนะการขับขี่ออกได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น เธียวรี วัน คือตัวแทนของการผสมผสานเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าชั้นสูงเข้ากับภูมิปัญญาทางวิศวกรรมยานยนต์ ที่มีจุดหมายในการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับนักขับนั่นเอง!
รูปลักษณ์ของ เธียวรี วัน นั้นโดดเด่นด้วยรูปทรงลิ่ม (Wedge Shape) ที่ชวนให้หวนระลึกถึงรถสปอร์ตคันเด่นของพวกเขาในยุค 70 อย่าง โลตัส เอสปรีต์ (Lotus Esprit) ที่เป็นรถที่มีชื่อเสียงที่สุดรุ่นหนึ่งของพวกเขา แน่นอนว่า ในการเป็นรถแนวคิดมันจะต้องมาพร้อมกับแนวคิดล้ำๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ รูปแบบของการเปิดประตู ที่ใช้กลไกการเปิดประตูที่แปลกประหลาดไม่ซ้ำใคร
นอกเหนือจากนั้นมันยังมาพร้อมกับห้องโดยสารที่เรียบง่ายอย่างถึงที่สุด โดยเน้นไปที่การนำเอาวัสดุ คาร์บอนไฟเบอร์ มาใช้อย่างเต็มที่ และนอกเหนือจากนั้น พวกเขาได้นำเอาวัสดุเส้นใยพิเศษที่เขาเรียกว่า “โรโบติค เท็กซ์ไทล์” (Robotic Textile) มาใช้ โดยเส้นใยชนิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ตามโปรแกรมที่วางเอาไว้ ในรูปแบบของ แฮพติก ฟีดแบ็ก (Haptic feedback) ที่พวกเขาให้ชื่อว่า โลตัสแวร์ (LOTUSWARE) อันเป็นนวัตกรรมที่ทำร่วมกับ บริษัทเทคโนโลยี “มอเตอร์สกิน” (MotorSkins) โดยระบบเส้นใยที่เปลี่ยนรูปร่างได้จะให้การตอบสนองที่มีความเป็นธรรมชาติแบบ อนาล็อค มันสามารถยุบ หรือพองออกได้ ทำให้เบาะนั่งของผู้ขับขี่ที่สร้างขึ้นจากวัสดุไฮเทคนี้สามารถที่จะสื่อสารมายังผู้ขับผ่านทางแผ่นหลัง ซึ่งนอกจากจะสื่อสารแล้ว การที่มันพองตัว หรือยุบตัวอย่างรวดเร็ว ยังช่วยในเรื่องซับแรงกระทำ ลดความเหนื่อยล้าในการขับขี่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับผู้ผลิตลำโพงที่มีประสบการณ์ยาวนานอย่าง “เคฟ” (KEF) ในการสร้างเสียงสังเคราะห์ที่จะเสริมความสนุกเร้าในในการขับขี่รถไฟฟ้า
ส่วนวิศวกรรมเพื่อความเร็ว และความสนุกในการขับขี่นั้นเริ่มด้วยการออกแบบให้ตัวถังนั้นสามารถแหวกอากาศได้ดีแต่ก็สามารถสร้างแรงกดได้เต็มที่ อีกทั้งยังนำเอาแรงบันดาลใจมาจากรถแข่งสูตร 1 ในการลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อความเบาอาทิ การใช้มอเตอร์และแบเตอรี่เป็นโครงสร้างเพื่อรับแรงจากระบบกำนสะเทือนเป็นต้น
ด้านงานออกแบบตัวถังนั้นก็นับว่าเฉียบคม เพราะในพื้นที่ด้านหน้าที่มองเห็นเป็นสีดำนั้นจริงๆแล้วมีทั้งชิ้นส่วนที่เป็นผิวทึบและโปร่งใส ทำให้ผู้ชมภายนอกสามารถเห็นถึงระบบกันสะเทือนได้รางๆ สร้างความน่าตื่นตาตื่นใน ส่วนไฟหน้านั้นเป็นระบบเลเซอร์ที่บางเฉียบ ดูแล้วทึ่งว่าพวกเขาทำไฟหน้าที่บางเฉียบเช่นนี้ได้เช่นไร
เรียกได้ว่า ตัวหนังสือ ไม่น่าบรรยายความพิเศษของรถคันนี้ได้ครบถ้วน ถ้าท่านสนใจข้อมูลของรถแนวคิดคันนี้มากไปกว่านี้ก็ลองรับชมได้ทางYoutube ช่อง Spin9 รับรองว่า ประทับใจแน่นอน!
โดย : ภัทรกิติ์ โกมลกิติ