เช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่มีการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า, มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มีการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า, โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่วมมือกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกัน
เช่นเดียวกับที่ “เอสซีจี” (SCG) ผนึกกำลังทุกภาคส่วน จัดเวทีขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับสากล อย่าง “ESG Symposium” เพื่อร่วมกันเร่งเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนตํ่า ภายใต้แนวคิด “ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่มีต่อธุรกิจและสังคมในปัจจุบัน
ต่อเนื่องมาจนครบ 1 ปี ความร่วมมือดังกล่าวเกิดความคืบหน้าชัด ทุกฝ่ายขานรับ ปรับวิธีคิด “ทำงานแบบบูรณาการ”
ยึดเป้าหมายเดียวกัน สื่อสารตรงไปตรงมาและลุยหน้างานจริง ช่วยปลดล็อก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอ จากงาน ESG Symposium 2023 ตั้งแต่ 1. การสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่าแห่งแรกของไทยให้เกิดขึ้นได้จริง 2. ส่งเสริมการก่อสร้างสีเขียวด้วยปูนซีเมนต์คาร์บอนตํ่า 3. เอกชนจับมือจัดการแพ็กเกจจิ้งใช้แล้วผ่านโครงการรีไซเคิลแบบ Closed-Loop และ 4. สนับสนุน SMEs เพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้เปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนตํ่า ผ่านโครงการ Go Together โดยปีนี้ ทุกภาคส่วนกว่า 3,500 คน รวมพลังเร่งเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนตํ่าต่อเนื่องกันอีกครั้งกับ “ESG Symposium 2024” ที่กำลังจะจัดขึ้น ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ตรวจการบ้าน 1 ปีทำอะไรบ้าง
“ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าถึงการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กับการเดินหน้า 4 ข้อเสนอหลักว่า การเร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เริ่มต้นจากการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ในงาน ESG Symposium 2023 ออกมาเป็นข้อเสนอ 4 แนวทางในการกู้วิกฤติโลกเดือด ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนตํ่าแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ส่งเสริมเกษตรกรมีอาชีพ-รายได้เพิ่มด้วยการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
สนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง ลดใช้นํ้า ใช้ปุ๋ย และลดคาร์บอน ผลักดันการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการขยายผล “ตาลเดี่ยวโมเดล” รวมถึงขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน เสริมแกร่ง เครือข่ายป่าชุมชน 38 แห่ง แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเป็นซูเปอร์มาร์เกตชุมชน ต่อยอดสู่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ติดตั้ง Solar Carport ที่ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี ซึ่งจะขยายผลสู่หน่วยงานอื่นต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความรู้ให้แก่ SMEs ในการเปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนตํ่า ผ่านโครงการ Go Together ขณะที่ โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก เป็นการจับมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจีเป็นตัวอย่างการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามารีไซเคิลแบบ Closed-Loop
แม้บางโครงการแม้ยังมีข้อติดขัด ทว่าก็มุ่งมั่นเดินหน้าต่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไปจนถึงการสนับสนุน SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ชู 3 หัวใจตอบโจทย์เป้าร่วมกัน
“ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นได้นั้น มาจากการปรับวิธีคิด เน้นทำงานแบบบูรณาการ มี 3 หัวใจหลัก 1. เป้าหมายร่วมกัน คือเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนตํ่าตาม NDC Roadmap (แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ) 2. แบ่งปันสื่อสาร พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พบระหว่างการทำงาน และ 3. ลงหน้างานจริง ให้เข้าใจสถานการณ์ ข้อจำกัด และความต้องการของอีกฝ่าย แล้วนำมาปรับวิธีทำงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายร่วมกันได้ดีที่สุด ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น หลังจากนี้ทุกภาคส่วนยังคงเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนทุกโครงการ เพื่อให้สังคมคาร์บอนตํ่าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” ธรรมศักดิ์ กล่าว
สำหรับงาน ESG Symposium 2024 ภายใต้ธีม “Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการนำข้อเสนอจากการหารือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. Saraburi Sandbox โมเดลต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่าแห่งแรกของไทย, 2. Circular Economy การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้คุ้มค่าสูงสุด, 3. Just Transition การสนับสนุนทรัพยากรแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน, 4. Technology for Decarbonization การพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 5. Sustainable Packaging Value Chain การจัดการแพ็กเกจจิ้งทั้งระบบอย่างยั่งยืนมานำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนตํ่าให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
สระบุรีต้นแบบเมืองอุตฯคาร์บอนตํ่า
ด้าน “บัญชา เชาวรินทร์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การเปลี่ยนจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นเมืองคาร์บอนตํ่าแห่งแรกของไทย ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ทว่าสำเร็จได้ด้วยโมเดล PPP หรือ Public-Private Partnership ที่ทุกภาคส่วนเล็งเห็นเป้าหมายเดียวกัน และขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทั่วทั้งจังหวัด เช่น โครงการธนาคารขยะ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนชุมชนคัดแยกขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันดำเนินการครบทั้ง 108 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดเป็นกองทุนธนาคารขยะ 123 กองทุน ซึ่งช่วยลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จำนวน 3,495 ตัน CO2 เทียบเท่า สร้างรายได้ให้ชุมชนเกือบ 1 ล้านบาท, โครงการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ได้ปลดล็อกด้วยการให้ความรู้แก่เกษตรกร เป็นตัวกลางเชื่อมให้ภาคอุตสาหกรรมมารับซื้อ สร้างความมั่นใจในด้านรายได้ให้เกษตรกร ปัจจุบันปลูกแล้วกว่า 100 ไร่ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี คาดว่าสามารถแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อปี และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตัน CO2 เทียบเท่า
ที่แรกเอเชียไม่มีปูนปอร์ตแลนด์
ขณะที่ “ชนะ ภูมี” นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ขยายความว่า ฐานกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศกว่า 80% อยู่ที่สระบุรี พื้นที่ดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนบ้านของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จึงอยากพัฒนาบ้านหลังนี้ให้ดีขึ้น โดยร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งเปลี่ยนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนตํ่าแห่งแรกของไทย เริ่มจากพัฒนาปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นปูน
ซีเมนต์คาร์บอนตํ่า ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากการผลิต และสนับสนุนให้ใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนตํ่าแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ สูงถึงกว่าร้อยละ 80 ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,169,673 ตัน CO2 ตั้งแต่ ม.ค. 65-มี.ค. 67 เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายของ จ.สระบุรี โดยไทยตั้งเป้าเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่มีปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ภายในปี 68 ทั้งยังมีแผนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนตํ่าประเภทใหม่ ๆ ที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตได้มากขึ้น.