สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรเผชิญกับแรงกดดันนานหลายทศวรรษ ให้ส่งมอบหมู่เกาะชากอสซึ่งเป็นอดีตอาณานิคม คืนให้กับมอริเชียส แต่พวกเขาไม่เห็นด้วย เนื่องจากฐานทัพบนเกาะดิเอโก การ์เซีย มีบทบาทสำคัญต่อปฏิบัติการของทหารสหรัฐ ในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวอินเดีย

แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรกับมอริเชียสระบุว่า ฐานทัพจะยังคงอยู่ต่อไป ตามสัญญาเช่าเบื้องต้น 99 ปี จนถึงปี 2579 โดยในอดีต ฐานแห่งนี้เคยถูกใช้ในสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก เพื่อจัดเก็บเครื่องบินทิ้งระเบิด และเรือรบพิสัยไกลของสหรัฐ

นายกรัฐมนตรี ปราวินด์ จูกโนธ ผู้นำมอริเชียส ซึ่งในภายหลังออกมากล่าวถึงข้อตกลงที่แสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมช่วยให้ประเทศเล็ก ๆ สามารถชนะมหาอำนาจได้อย่างไร “56 ปีหลังจากได้รับเอกราช การปลดอาณานิคมเสร็จสิ้นลงแล้ว ตอนนี้ เพลงชาติของเราสามารถเล่นดังก้องไปทั่วดินแดนของเราได้”

ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้น หลังการเจรจามานานเกือบ 2 ปี และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังสหราชอาณาจักรปฏิเสธข้อเรียกร้องเกี่ยวกับอธิปไตยของมอริเชียสมานานหลายทศวรรษ

ในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา เมื่อปี 2566 ทั้งคู่ตกลงกันว่า ฐานทัพทหารดิเอโก การ์เซีย จะยังคงปฏิบัติการต่อไปไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร เนื่องจากในปี 2559 สัญญาเช่าฐานทัพทหารของสหรัฐถูกขยายต่อไปจนถึงปี 2579

ย้อนกลับไปในปี 2508 สหราชอาณาจักรแยกหมู่เกาะชากอส ออกจากมอริเชียส ตั้งฐานทัพทหารที่นั่น และปล่อยให้สหรัฐเช่า ขณะนั้น สหราชอาณาจักรขับไล่ชาวเกาะชากอสหลายพันคน ซึ่งต่อมารวมตัวยื่นคำร้องต่อศาลหลายแห่ง เรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร

แถลงการณ์ร่วมระบุว่า ข้อตกลงนี้จะแก้ไขความผิดในอดีต และ “สนับสนุนสวัสดิการของชาวชากอส” ซึ่งถูกบังคับให้ลี้ภัย รวมถึงในสหราชอาณาจักรด้วย

นายโอลิเวียร์ บันคูลต์ ประธานกลุ่มผู้ลี้ภัยชากอส เรียกวันนี้ว่าเป็น “วันประวัติศาสตร์” แต่กลุ่มซากอสเกียน วอยซ์ส ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเกาะอีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา

นายเจมส์ เคลเวอร์ลี นักการเมืองจากพรรคอนุรักษนิยม มองว่าข้อตกลงนี้ “อ่อนแอ” แม้เขาจะเป็นผู้ริเริ่มการเจรจาเรื่องอธิปไตย ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งรมว.การต่างประเทศ ส่วนนายโรเบิร์ต เจนริก หนึ่งในแกนนำพรรคอนุรักษนิยม เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็นการ “ยอมจำนน”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก มีความเห็นว่า สหราชอาณาจักรควรส่งมอบหมู่เกาะชากอสกลับคืนให้มอริเชียส และในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้แทนของสหราชอาณาจักรกล่าวขอโทษ ต่อการขับไล่ชาวเกาะออกไปอย่าง “น่าละอาย”

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงเพิกเฉยต่อมติของศาลโลก และในปีเดียวกัน สมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ผ่านข้อมติเรียกร้องให้สหราชอาณาจักร “ถอนการบริหารอาณานิคม” ออกจากหมู่เกาะชากอส

นายเดวิด แลมมี รมว.การต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ข้อตกลงนี้รับประกันการดำเนินงานของฐานทัพต่อไปในอนาคต และปิดกั้นการใช้หมู่เกาะชากอส เป็นเส้นทางการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายสู่สหราชอาณาจักร

นอกจากนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะมอบความสนับสนุนทางการเงินให้แก่มอริเชียส ซึ่งรวมถึงเงินรายปี และความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES