ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤติ จนสร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่วิตกกังวลกับการขยายตัวของพื้นที่น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. แฟนเพจ “URBAN TH” ได้เผยถึงแบบจำลองน้ำท่วมเชียงใหม่ ซึ่งกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
นอกจากนี้ ทางด้านแฟนเพจ CCDC: Climate Change Data Center โดย “ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ยังได้แสดงความเห็นด้วยว่า “มวลน้ำมหาศาล กำลังเคลื่อนจากที่ระดับสูง ลงไปสู่ระดับต่ำกว่า” และไม่เพียงเคลื่อนตัวบนลำน้ำ แม่น้ำ แต่เคลื่อนไปตามถนน ตามที่ลุ่ม ต่างๆ
การอ้างอิงตัวเลขวัดระดับน้ำในลำน้ำอย่างเดียว อาจทำให้การประเมินป้องกัน และเตรียมการ เกิดความสับสน โกลาหล และผิดพลาดได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตัวเมืองเชียงใหม่ คงเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด บอบช้ำ สาหัส เบาหนัก ต่างกันไป “ในพื้นที่ด้านล่าง ที่ต้องรับมวลน้ำ ขอให้ประเมินบนความเสี่ยงสูงสุด ให้คน สัตว์ และทรัพย์สิน รอดปลอดภัยให้ได้มากที่สุดนะครับ”
นอกจากนี้ เมื่อมีชาวเน็ตเข้ามาสอบถามด้วยว่า “หมายถึงว่าแม้แม่น้ำปิงน้ำจะลดระดับ แต่ยังจะมีน้ำจากดอยไหลลงต่ำมาเสริมให้น้ำที่ท่วมจะยังขังมากอยู่ ที่ประเมินว่าจะหมด 9 ต.ค. จึงอาจไม่ใช่ ใช่มั้ยครับ” ซึ่งทางเพจได้ชี้แจงไขข้อสงสัยเพิ่มว่า “น้ำที่อาจจะมารอบใหม่ ต้องรอข้อมูล และ การประเมินสถานการณ์ ครับ แต่ปริมาณน้ำท่วม ในรอบที่ 2 นี้ ที่ท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว กำลังระบายไหลสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า อำเภอด้านล่าง จังหวัดด้านล่าง และไม่ใช่เพียงไหลไปตามลำน้ำ แต่ไหลไปตามถนน ไหลไปตามพื้นที่ลุ่ม ซึ่งเป็นมวลน้ำในปริมาณมหาศาล คนที่อาศัยอยู่ในโซนที่คาดว่า จะรับน้ำ ให้เตรียมการขั้นสูงสุด เช่น ออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายได้บ้างครับ ปล. ยังรอภาพถ่ายทางอากาศประเมินทิศทางน้ำ ที่จะไหลลงไปจังหวัดที่ระดับต่ำลงไปครับ”..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @URBAN TH, @CCDC: Climate Change Data Center