“การดื่มนมช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพดี แต่ต้องดื่มให้ถูกวิธี”
บางคนเชื่อว่า เหตุผลที่ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มความสูงเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศได้ ก็เนื่องมาจากหลังสงครามโลก พวกเขาได้จัดเตรียมนมให้กับนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศได้ดื่มทุกวัน
แต่บางคนคิดว่า นมเป็นเพียงวิธีทางการตลาดแบบตะวันตก คนเอเชียไม่ควรดื่มนมเลย เพราะจะทำให้เป็นมะเร็งตับได้
จริง ๆ แล้ว การดื่มนมช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาสุขภาพ หรือเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับกันแน่?
คู่สามีภรรยาชาวจีนคู่หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพหลังเกษียณเป็นอย่างมาก พวกเขามักจะดื่มนมหนึ่งแก้วทุกวัน และกินอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ทั้งคู่กลับรู้สึกว่ามีสุขภาพที่ไม่ดี เหนื่อยล้าง่าย นอนไม่ค่อยหลับ และไม่อยากอาหาร เมื่อไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล ทั้งคู่ตรวจพบว่าเป็น “มะเร็งตับ”
สาเหตุที่ทำให้ทั้งสองคนป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ เพราะวิถีชีวิตที่เน้นความประหยัด ทั้งคู่มักไปซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อซื้ออาหารในปริมาณเยอะ ๆ เพื่อจะได้ซื้อในราคาที่ถูกลง เมื่อซื้อมาเยอะก็กินหมดไม่ทัน จึงทำให้อาหารหมดอายุ รวมทั้งนมด้วย แต่สามีภรรยาคู่นี้ก็ยังคงรับประทานนมที่หมดอายุ ด้วยการนำไปอุ่นก่อน เพราะคิดว่าปลอดภัยดี ยังดื่มได้ ทว่า ดันสร้างผลร้ายให้กับร่างกายของพวกเขา
แพทย์ประจำห้องไอซียู โรงพยาบาลจูเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน กล่าวว่า นมอุดมไปด้วยโปรตีน ทำให้สามารถเพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ง่าย หากดื่มนมบูด ผู้สูงอายุจำนวนมากจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าคนหนุ่มสาว และจะมีอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหารได้ง่าย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
นมทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้นหรือไม่?
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทำการวิจัยร่วมกัน โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 510,000 คน ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามการบริโภคนม ได้แก่ กลุ่มที่ดื่มนมป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กลุ่มที่ดื่มนมอย่างน้อยเดือนละครั้ง และกลุ่มที่แทบไม่ดื่มนมเลย
จากการเปรียบเทียบพบว่า ผู้ที่ดื่มนมเป็นประจำ 2 กลุ่มแรก มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม มากกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่่มเลย 12% และ 17% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุ และผลกระทบจริง ๆ ได้ เนื่องจากกลุ่มคนที่ศึกษามีการบริโภคโปรตีน วิตามิน และสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย จึงยากที่จะระบุว่าสาเหตุเกิดจากการดื่มนม
ทั้งนี้ นายแพทย์หยู โหยวหมิง หัวหน้าภาควิชาระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลแพทย์แผนจีน เปิดเผยว่า มีบางคนที่ไม่ควรดื่มนม ได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร
ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น และมีปัญหาในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ไม่ควรดื่มนม เพราะนมจะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้อาการป่วยแย่ลง
- ผู้ที่แพ้แลคโตส
ผู้ที่แพ้แลคโตสไม่สามารถเผาผลาญและย่อยแลคโตสในนมได้ทันท่วงที อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องอืดและท้องเสีย
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องท้อง
ระบบย่อยอาหารของคนกลุ่มนี้ยังไม่ฟื้นตัวหลังการผ่าตัด โปรตีนในนม เป็นโปรตีนโมเลกุลสูงที่สร้างก๊าซได้ง่ายในระหว่างการย่อยอาหาร จะทำให้อาการท้องอืดรุนแรงขึ้น
ข้อควรระวังเมื่อดื่มนม
- เวลาดื่มนมขณะท้องว่าง
ควรดื่มร่วมกับการรับประทานอาหารที่ไม่ใช่ของเหลวด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย และอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ
- ควรดื่มนมที่อุณหภูมิห้อง
หากต้องการดื่มนมร้อน ให้ใช้วิธีนำแก้วนมไปแช่ในน้ำร้อนก่อนดื่ม เพราะนมที่ถูกความร้อนสูงกว่า 70 องศาฯ โปรตีนและวิตามินในนมอาจถูกทำลาย ทำให้สูญเสียสารอาหาร ขณะที่นมแช่แข็งจะสูญเสียโปรตีน และการแบ่งชั้นไขมัน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการดูดซึมสารอาหาร
- อย่าดื่มนมที่ไม่ใช่นมจริง ๆ
นมธัญพืช นมวอลนัท แม้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีคำว่า “นม” แต่โดยพื้นฐานแล้ว มีนมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่านมจริง ๆ เยอะมาก และมีสารปรุงแต่งมากมาย
- อย่าดื่มนมมากเกินไป
ผู้ใหญ่สามารถดื่มนมได้ 300-500 ลิตรต่อวัน การดื่มมากเกินไปอาจส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการดูดซึมแร่ธาตุอื่น ๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- อย่าดื่มนมสด
หลายคนเชื่อว่านมคั้นสดจากเต้าดีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม นมชนิดนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อที่เข้มงวด อาจมีแบคทีเรียที่เป็นโทษต่อร่างกายได้.
ที่มาและภาพ : soha, Couleur / Pixabay