นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ย. 67 กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่ออายุมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ออกไปอีก 1 ปี ซึ่งเป็น 2 สายแรกที่กระทรวงคมนาคมได้เริ่มนำร่องดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 66 และกำลังจะครบกรอบเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้ดำเนินการถึงวันที่ 30 พ.ย. 67 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ทั้งนี้หาก ครม. เห็นชอบ กระทรวงคมนาคมจะสามารถดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องได้ทันที
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ กระทรวงคมนาคมยังคงยืนยันเป้าหมายเดิมที่จะดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้าที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสาย ให้ได้ภายในเดือน ก.ย. 68 อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเตรียมจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาการจัดตั้งกองทุน 2 แสนล้านบาท ที่จะนำไปใช้ในการซื้อรถไฟฟ้าทุกสายคืน ซึ่งเบื้องต้นเงินในกองทุนดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1.การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลที่เข้ามาในเขตพื้นที่ใจกลางเมือง ผ่านแนวเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ สุขุมวิท สีลม และรัชดาภิเษก ซึ่งจากข้อมูลมีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนดังกล่าวประมาณ 7 แสนคันต่อวัน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในอัตราเท่าใดนั้น กระทรวงการคลังจะไปพิจารณารายละเอียดต่างๆ ตัวอย่างเช่น 5 ปีแรก อาจจะเก็บ 40-50 บาท ปีต่อไปก็อาจจะจัดเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เมื่อมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณรถยนต์มาใช้ถนนที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ลดลง เหลือประมาณวันละประมาณ 6 แสนคันต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ สมทบเข้ากองทุนได้ประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท และ 2.การระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (กองทุน TFF) โดยกองทุนฯ จะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะต้องนำรายละเอียดต่างๆ ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาด้วย รวมถึงในแง่ของกฎหมาย ที่อาจต้องมีกฎหมายขึ้นมารองรับ เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดการซื้อคืนรถไฟฟ้าทุกสายนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ศึกษาวิธีการซื้อคืน และรายละเอียดการจ่ายเงินให้กับผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละสาย รวมทั้งอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ยืนยันว่ารัฐไม่ได้รังแกเอกชน เมื่อซื้อคืนมาแล้วก็อาจจะให้เอกชนรายนั้นเดินรถเหมือนเดิม แต่รายละเอียดขอหารือกับกฤษฎีกาก่อน เบื้องต้นคาดว่าเรื่องการจัดตั้งกองทุนฯ และการซื้อคืนรถไฟฟ้า รวมทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะได้ข้อสรุป และมีความชัดเจนไม่เกินกลางปี 68.