เมื่อวันที่ 11 พ.ย.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Admin ระบบ e-Learning หลักสูตร Money Coach ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ของสำนักขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านทางระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมี Admin จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ทั่วประเทศ รวมถึง Admin จาก สพฐ. ส่วนกลาง, สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมจำนวน 260 คน
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยสวัสดิภาพและต้องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรฯอย่างเร่งด่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจัดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูฯและขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นระบบ และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความสุขในการดำรงชีวิตและสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ส่งผลให้สามารถทำงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างมีคุณภาพ
.
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯสัญจร ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุก ทำให้เห็นว่าปัจจัยต่างๆ มิใช่เพียงยอดเงินกู้ที่นำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีหนี้สินเพิ่มเติมจากการเพิ่มพูนขึ้นของดอกเบี้ยเงินกู้ พฤติการณ์การเป็นหนี้ การบริหารจัดการ รวมถึงการเพิ่มรายได้บนความเสี่ยงเกิดจากความไม่รู้ ขาดการวางแผนการออม จากเป็นนโยบายที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้รับทราบถึงปัญหา การใช้ชีวิตของครูและบุคลากร จึงเน้นย้ำติดตามการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดให้มีการให้ความรู้การบริหารจัดการการเงิน และได้รับความร่วมมือจากโค้ชหนุ่ม Money Coach (นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์) ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับเพื่อนครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางการเงิน หลักสูตรเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงิน และหลักสูตรครูไทยการเงินดีมีความสุข ในรูปแบบออนไซต์ เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา และจัดทำระบบ e-Learning หลักสูตร Money Coach เพื่อนำมาใช้ขยายผล online โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มาก และจากแนวทางดังกล่าว สนค. ในฐานะหน่วยงานใน สพฐ. ส่วนกลางที่รับผิดชอบ ดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหาหนี้สินครูให้กับข้าราชการและบุคลากรในสังกัด จึงมีแนวทางในการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
.
ระยะ 1 เปิดการอบรมในรูปแบบออนไลน์ โดย สนค. มีผู้เข้าสมัครการอบรม ประมาณ 12,000 กว่าคน จบหลักสูตรได้เกียรติบัตร 6,000 กว่าคน
ระยะ 2 จัดตั้งคณะทำงาน โดยทีมงาน สพม.กาญจนบุรี จัดทำระบบ e-Learning หลักสูตร Money Coach “สร้างความยั่งยืน ด้วยความรู้ด้านการเงิน” โดยการอบรมผู้ดูแลระบบ 248 โหนด ประกอบด้วย สพท. 245 เขต, สพฐ. ส่วนกลาง, สป.ศธ., และ สศศ. ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในส่วนของบทเรียนออนไลน์ แบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน แบบทดสอบท้ายบท ระบบเกียรติบัตร และระบบรายงานผล ก่อนที่จะนำไปสู่การอบรมออนไลน์แก่ผู้สนใจทั่วไปของแต่ละจุด
ระยะ 3 การขับเคลื่อนระบบ e-Learning หลักสูตร Money Coach สู่ Anywhere Anytime โดย สทร.สพฐ. เป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับความรู้ด้านการเงิน พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และทักษะความรู้ด้านการเงิน ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของ สพฐ. ต่อไป
.
“ขอขอบคุณทุกท่านที่มีความตั้งใจในการพัฒนาระบบ e-Learning หลักสูตร Money Coach ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในวันนี้ได้รับทราบบทบาทหน้าที่และแนวทางในการดูแลระบบฯ การพัฒนา 248 โหนด รวมถึงการสร้างระบบรายงานผลและพิมพ์เกียรติบัตรสำหรับผู้เข้ารับการอบรมของเขตพื้นที่ โดยวิทยากรที่มีความชำนาญ ได้แก่ นายธีระพล พฤฑฒิกุล และนายคชานนท์ พงษ์สวัสดิ์ ครูโรงเรียนวิสุทธรังษี และดำเนินการประสานงานโดย ผอ.โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้ ในทุกสถานีแก้หนี้ ที่มี ผอ.สพท. จะดำเนินการอย่างเต็มที่ และครูทั้งประเทศจะมีความรู้เติมเต็มในการบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระการเป็นหนี้สิน รวมทั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศ และเกิดประโยชน์กับนักเรียนได้ทุกห้องเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว