การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองที่ยาวนานที่สุดในโลก จนกระทั่งได้รับการบันทึกไว้เป็นสถิติโลกของกินเนสส์เวิลด์ เรคคอร์ด เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1927 ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เจ้าของโครงการคือศาสตราจารย์โธมัส พาร์เนลล์ 

ศ.พาร์เนลล์ คิดการทดลองนี้เพื่อพิสูจน์ให้นักศึกษาได้เห็นว่า สสารบางอย่าง แม้ดูภายนอกจะเหมือนของแข็ง แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นของเหลว เพียงแต่มีคุณสมบัติความหนืดสูงมาก

ศ.โธมัส พาร์เนลล์ ผู้ริเริ่มการทดลอง

ความหนืด (Viscosity) ในทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงความต้านทานต่อการไหลของของเหลว สสารที่มีค่าความหนืดสูงจะไหลได้ช้ากว่าสสารที่ค่าความหนืดต่ำ เช่น น้ำเปล่ามีค่าความหนืดต่ำกว่ากาวน้ำ

สำหรับสสารที่ใช้ในการทดลองนี้เรียกว่าพิตช์ (Pitch) ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อการทดลองนี้ว่า Pitch Drop Experiment คำว่าพิตช์นี้เป็นชื่อดั้งเดิมที่ใช้เรียกรวม ๆ ของสสารประเภทยางมะตอย หรือน้ำมันดิน 

พิตช์ที่ใช้ในการทดลองนี้ เป็นอนุพันธ์จากน้ำมันดินหรือยางมะตอย ซึ่งถือว่าเป็นของเหลวที่ข้นที่สุดในโลก และแม้ว่าจะไม่ใช่ของแข็ง แต่ก็เป็นวัสดุที่นิยมใช้ซ่อมรอยรั่วของเรือ เพราะสามารถกันน้ำเข้าได้ สสารตัวนี้จะไหลได้ช้ามากเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง

ศ.พาร์เนลล์ ทำการทดลองโดยอุ่นยางมะตอยให้ร้อน และเทลงไปในบีกเกอร์แก้วทรงกรวย จากนั้นปล่อยให้มันเย็นลงและแข็งตัวอยู่นานถึง 3 ปี แล้วค่อยตัดก้านของบีกเกอร์ทรงกรวยออกไป เพื่อเปิดช่องให้ยางมะตอยไหลลงสู่ภาชนะที่รองรับด้านล่าง

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา สสารชนิดนี้ก็ค่อย ๆ หยดลงอย่างเชื่องช้า แต่ละหยดกินเวลายาวนานหลายปี ดังนี้

ค.ศ. 1938 : หยดที่ 1

ค.ศ. 1946 : หยดที่ 2

ค.ศ. 1954 : หยดที่ 3

ค.ศ. 1962 : หยดที่ 4

ค.ศ. 1970 : หยดที่ 5

ค.ศ. 1979 : หยดที่ 6

ค.ศ. 1988 : หยดที่ 7

ค.ศ. 2000 : หยดที่ 8

ค.ศ. 2014 : หยดที่ 9

ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ การทดลองนี้จัดขึ้นเพื่อสาธิตเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงใดๆ หรือมีการดูแลสภาพแวดล้อมในการทดลองเป็นพิเศษ ซึ่งหมายความว่าการทดลองนี้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงเวลาต่างๆ ของปี

จนถึงตอนนี้ มีจำนวนหยดที่ได้ทั้งหมด 9 หยด ในช่วงเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่เริ่มการทดลอง โดยเฉลี่ยแล้ว ยางมะตอยในบีกเกอร์จะหยดลงมาทุก 10 ปี

หลังจาก ศ.พาร์เนลล์ เสียชีวิตไป ก็ได้ศาสตราจารย์จอห์น เมนสโตน เป็นผู้ดูแล และเมื่อ ศ.เมนสโตน เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2013 ศาสตราจารย์แอนดรูว์ ไวท์ ก็รับช่วงเป็นผู้ดูแลการทดลองนี้ เขาตัดสินใจเปลี่ยนภาชนะที่รองรับซึ่งมียางมะตอยหยดอยู่เกือบเต็ม ก่อนหยดที่ 9 จะหยดลงมา

แต่ระหว่างที่เปลี่ยนภาชนะ ก็ทำให้ฐานอุปกรณ์สั่นสะเทือน ซึ่งแรงสะเทือนส่งผลให้หยดที่ 9 หยดลงมาในทันทีในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2014

เนื่องจากค่าเฉลี่ยอัตราการหยดในการทดลองนี้คือ 10 ปี และปีนี้ก็ครบรอบพอดี ทำให้มีการคาดคะเนว่า หยดที่ 10 ของการทดลองน่าจะตกลงมาในเร็ว ๆ นี้

ที่มา : wionews.com, ladbible.com

เครดิตภาพ : University of Queensland, Wikipedia