นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ทย. อยู่ระหว่างพิจารณาจัดเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานสุรินทร์ ท่าอากาศยานแห่งใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทย. ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐบาล ตั้งแต่ครั้งนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการใน จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เมื่อช่วงวันที่ 28-30 มิ.ย. 67

เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับพื้นที่ และอำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน โดยจะเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 8 ที่ ทย. จะศึกษาความเป็นไปได้ฯเพิ่มจากที่กำลังศึกษาทั้งหมด 7 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนครปฐม, บึงกาฬ, มุกดาหาร, สตูล, สารสินธุ์ (มหาสรคาม+กาฬสินธุ์), พะเยา และท่าอากาศยานพัทลุง แต่ละแห่งยังอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ของการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกการเดินทางที่รวดเร็วแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ตลอดจนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ

สำหรับท่าอากาศยานนครปฐม วงเงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ท่าอากาศยานบึงกาฬ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท อยู่ในขั้นตอนนำเสนอรายงาน EIA ต่อ สผ. ส่วนท่าอากาศยานมุกดาหาร วงเงิน 5 พันล้านบาท, ท่าอากาศยานสตูล วงเงิน 4.1 พันล้านบาท และท่าอากาศยานพะเยา อยู่ระหว่างจ้างออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างฯ และศึกษารายงาน EIA จากนั้นจะนำรายงาน EIA เสนอ สผ. พิจารณาต่อไป

ท่าอากาศยานพัทลุง และท่าอากาศยานสารสินธุ์ อยู่ระหว่างรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยาน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา จากนั้นจึงจะจ้างออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างฯ และศึกษารายงาน EIA ต่อไป การดำเนินงานก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่มีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง, รายงานผลการศึกษาฯ ต่อหน่วยที่เกี่ยวข้อง, จ้างออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างฯ และศึกษารายงาน EIA, นำเสนอรายงาน EIA ต่อ สผ.

จากนั้นนำเสนอผลการศึกษาทั้งหมดให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บรรจุลงแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ, นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหาก ครม. เห็นชอบ จึงขอรับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างต่อไป เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 67-68 จะยังไม่สามารถเสนอ ครม. พิจารณาก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ได้ เพราะแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา แต่จะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายดนัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ทย. มีท่าอากาศยานภายใต้การกำกับดูแล 29 แห่ง โดยมีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ 21 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 8 แห่ง ยังคงให้บริการเครื่องบินราชการ และเครื่องบินส่วนบุคคล ปริมาณผู้โดยสารปีงบประมาณ 67 (ต.ค. 66-ก.ย. 67) อยู่ที่ประมาณ 2.48 ล้านคน 1.71 เที่ยวบิน.