เมื่อวันที่ 26 ต.ค. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ผ่านระบบ Zoom โดยนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่า รฟท. กล่าวเปิดการสัมมนาฯ ว่า จากนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่มอบให้ รฟท. ทบทวนการลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดง และส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง, การบริหารการเดินรถ, การซ่อมบำรุง, การบริหารสถานีกลางบางซื่อ และโครงข่ายตลอดแนวเส้นทาง รฟท. จึงว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม ตลอดจนจัดทำเอกสารการประกวดราคา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นก่อนเปิดประมูลต่อไป

นายคณพศ วชิรกำธร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการรถไฟสายสีแดง มีมูลค่าการลงทุน 1.88 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 6 ช่วง โดยทุกช่วงได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ประกอบด้วย 1.ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร (กม.) และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม. วงเงิน 1.08 แสนล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.64, 3.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.96 หมื่นล้านบาท, 4.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท, 5.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และก่อสร้างสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท และ 6.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4.73 พันล้านบาท

นายคณพศ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) สัมปทาน 50 ปี ทั้ง 6 เส้นทางได้ในเดือน มิ.ย.65 และได้ผู้ชนะการประมูลประมาณเดือน มิ.ย.66 จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้าง โดยช่วง รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช จะเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค. 66-ก.ค. 69  และเปิดให้บริการปี 69  ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง จะเริ่มก่อสร้างเดือน ส.ค.66-ม.ค.71 และเปิดให้บริการปี 71 เบื้องต้นอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท และเพิ่มขึ้น 2.10 บาทต่อ กม. ค่าโดยสารสูงสุดแต่ละช่วงไม่เกิน 42 บาท จะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี ครั้งละ 3%

นายคณพศ กล่าวอีกว่า ส่วนการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารรายปี ตั้งแต่ปี 2564-2620 มีดังนี้ ในปี 64 เปิดให้บริการโครงการฯ บางส่วน ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 1 แสนคนต่อวัน เมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายในปี 69 ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 71 คาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 4 แสนคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หลังจากเปิดให้บริการเป็นระยะเวลา 50 ปี คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง 1.3 ล้านคนต่อวัน

ด้านนายมูฮัมมัดมูนิตร์ พิมพ์ประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านการเงิน การลงทุน ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ได้มีการปรับมูลค่าการลงทุนโครงการฯ ให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากเดิมมูลค่าลงทุนงานโยธา งานระบบ และจัดหาขบวนรถ จากเดิม 1.74 แสนล้านบาท เป็น 1.88 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามสำหรับรูปแบบการให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.Net Cost เอกชนเดินรถและจัดเก็บรายได้ โดยชำระค่าสัมปทานและผลตอบแทนให้แก่รัฐ 2.Gross Cost รัฐเป็นเจ้าของรายได้ เอกชนเดินรถ จัดเก็บ และจัดส่งรายได้ทั้งหมดให้รัฐ โดยรัฐชำระค่าดำเนินงานให้เอกชนด้วยอัตราคงที่ และ 3.Modified Gross Cost รัฐจะจ่ายเงินบัสให้กับเอกชน เพื่อจูงใจให้เอกชนดำเนินการให้บริการดียิ่งขึ้น