สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองอุรุมชี ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ว่ารายงานโดยสำนักป่าไม้และทุ่งหญ้าส่วนภูมิภาคซินเจียงระบุว่า มีการปลูกต้นไม้หลายชนิดพันธุ์ เช่น ป๊อปลาร์ทะเลทราย ซัวซัว และหลิวแดง บนที่ดินทรายในอำเภออวี๋เถียน บริเวณขอบริมตอนใต้ของทะเลทรายทากลิมากัน เมื่อวันพฤหัสดีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหมุดหมายการสร้างแถบสีเขียวส่วนสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว
อนึ่ง ทะเลทรายทากลิมากันมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 337,600 ตารางกิโลเมตร และขนาดเส้นรอบวง 3,046 กิโลเมตร ทำให้เป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดของจีน และทะเลทรายขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก
จีนใช้ระยะเวลาในการสร้างแถบสีเขียวล้อมรอบทะเลทรายทากลิมากันอย่างเต็มรูปแบบนานกว่า 40 ปี โดยมีการเชื่อมต่อแถบสีเขียวยาว 2,761 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อโอเอซิสที่กระจัดกระจาย เมื่อสิ้นปี 2566 และเหลือส่วนสุดท้ายที่มีความท้าทายในการสร้างมากที่สุด
แถบสีเขียวส่วนสุดท้ายนี้ มีความยาวราว 285 กิโลเมตร ตัดผ่านตอนใต้ของทะเลทรายทากลิมากัน และมีความอันตรายจากกระแสลมและทรายรุนแรงมากที่สุด โดยซินเจียงได้ดำเนินมาตรการแบบมุ่งเป้าและตามหลักเกณฑ์วิทยาศาสตร์ เพื่อปิดจบส่วนสุดท้ายตั้งแต่เริ่มต้นปี 2567
นอกจากการสร้างแถบสีเขียวแล้ว ซินเจียงยังพยายามส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับทราย เช่น การเพาะปลูกต้นซิสแทนเช ( cistanche ) หรือต้นโร่วชงหรง และพืชผลชนิดอื่น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น
ทั้งนี้ โครงการควบคุมทะเลทรายทากลิมากันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผืนป่าแนวกันลม 3 เหนือของจีน ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2521 และมีกำหนดเสร็จสิ้นภายในปี 2593.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA