เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปรากฏกระแสข่าวว่า ในวันนี้กรมราชทัณฑ์ ได้มีการปล่อยตัวนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกจำคุกในคดี ร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อปี 2558 โดยมีโทษจำคุก 48 ปี และเข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษมาอย่างต่อเนื่อง จนเหลือ 10 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 21 เม.ย. 2571 อย่างไรก็ตาม เมื่อนายบุญทรง ได้ถูกปล่อยตัวเข้าโครงการพักการลงโทษ ออกจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ยังอยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติต่อไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยอธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่า เรื่องการพักการลงโทษของผู้ต้องขัง เป็นในส่วนดูแลของกรมราชทัณฑ์ และการพักการลงโทษดังกล่าวเป็นเรื่องของวาระการประชุม ซึ่งทราบว่ามีการเสนอรายชื่อของหลายบุคคลเข้ามาสำหรับการพิจารณาตามเงื่อนไขของระเบียบการพักการลงโทษ แต่ถ้าคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาโดยตรง จะเป็นในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ขณะที่เรื่องการติดหรือไม่ติดกำไล EM กับผู้ได้รับการพักโทษนั้น จะเป็นเรื่องของการเสนอขอเข้ามา แต่คณะกรรมการก็จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าจะอนุญาตให้บุคคลนั้นมีการติดกำไล EM หรือไม่ หรือไม่สั่งติดเพราะเหตุใด นอกจากนี้ หากว่ากันตามหลักการ ผู้ต้องขังป่วยแล้วได้รับการพักการโทษ มีเหตุจำเป็นต้องติดกำไล EM หรือไม่นั้น ตนนำเรียนว่าคงไม่เสมอไปทุกราย เพราะกรรมการจะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้รับรายงานว่าบุคคลดังกล่าวได้รับการพักการลงโทษด้วยเหตุใด อย่างไร ทราบเพียงว่ามีการประชุมไปแล้ว แต่ถ้าข้อมูลรายละเอียดต้องประสานไปยังกรมราชทัณฑ์
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพักการลงโทษ กระทรวงยุติธรรม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นพักการลงโทษ “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” ผู้ต้องขังคดีจำนำข้าว หลังต้องโทษจำคุกรวม 48 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง กระทั่งเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ โดยวันนี้ (2 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่คุมประพฤติได้ทำการใส่กำไลอีเอ็มให้กับนายบุญทรง ที่คุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก่อนปล่อยจากเรือนจำฯ เข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษ โดยเหลือโทษที่ต้องติดกำไลอีเอ็ม และคุมประพฤติเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน.