นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโนบายในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ โดยปี 67 ไทยได้มีการนำ เอไอ มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้นถึง 73.3% เพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% และประเทศไทยได้มีการประกาศแนวทางการกำกับดูแลการใช้เอไอ คือ “แนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร” และ “คู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ เจน เอไอ อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ เอไอ มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้กระทรวงดีอี ยังได้ลงนาม  เอ็นวิเดีย  ผู้ผลิตชิปหน่วยประมวลผลกราฟิกรายใหญ่ของโลก เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านเอไอ ที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดในแผนงานอีกครั้งหนึ่ง โดยประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะ เพื่อนำเอไอไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ โดยรัฐบาลมุ่งมั่นให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ชูแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย. 68  ที่กรุงเทพฯ คาดมีผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกยูเนสโก กว่า 194 ประเทศ รวมกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน นับเป็นการจัดการประชุมนานาชาติครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เอไอของโลก ซึ่งจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์หลายมิติ ทั้งการพัฒนาบุคลากร  การพัฒนาท่องเที่ยว และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับเอไอด้วย

“งานประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมตามกรอบ AI Readiness Assessment เพื่อประเมินความสมดุลระหว่างกฎเกณฑ์ จริยธรรม และนวัตกรรม และ 2.การยกระดับขีดความสามารถระดับชาติ ในการนำ AI มาใช้สนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 64 พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระดับนานาชาติ” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องจาก UNESCO ในฐานะผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลและจริยธรรม AI ซึ่งบทบาทสำคัญของไทยในการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ ท่ามกลางยุคที่ AI กำลังเปลี่ยนโฉมสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยการนำกรอบการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้ ประเทศไทยได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการประยุกต์ใช้ AI อย่างโปร่งใสและยุติธรรมตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบรับความท้าทายที่มาพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค