สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ว่ามาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ฉบับปี 2530 ระบุว่า หากผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใด “กระทำการที่ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ” สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจอภิปราย และลงมติถอดถอนบุคคลดังกล่าว ให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่
แม้การลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องการเพียง “เสียงข้างมาก” แต่การถอดถอนประธานาธิบดีต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ซึ่งจากจำนวนสมาชิกปัจจุบัน 300 คน เป็นฝ่ายค้าน 192 ที่นั่ง และฝ่ายรัฐบาล 108 ที่นั่ง หมายความว่า ฝ่ายค้านต้องหาทางดึงเสียงจากฝ่ายรัฐบาลให้ได้อย่างน้อย 8 เสียง เพื่อรวมเสียงสนับสนุนญัตติให้ได้ 200 เสียง ตามเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ฝ่ายค้านเกาหลีใต้ นำโดยพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ยื่นญัตติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ 4 ธ.ค. ขอให้มีการอภิปรายและลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล พ้นจากตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้ จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ประกาศกฎอัยการศึก แม้มีการเพิกถอนคำสั่งในเวลาต่อมา แต่เป็นเพราะมติคัดค้านของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องลงมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เร็วที่สุดคือภายใน 24 ชั่วโมง และช้าที่สุดไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการบรรจุญัตติเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ซึ่งแหล่งข่าวในฝ่ายค้านกล่าวว่า จะมีการผลักดันเป็นวาระเร่งด่วน ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 5 ธ.ค. และจะมีการลงมติ “เร็วที่สุด” คือวันที่ 6 ธ.ค. และ “ช้าที่สุด” ไม่เกินวันที่ 7 ธ.ค.
หากสภาลงมติด้วยเสียงข้างมากถึงสองในสาม ยุนต้องระงับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานาธิบดี และให้นายฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรี รักษาการแทน หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาญัตติถอดถอน ภายในระยะเวลา 180 วัน หากรับรอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน หากศาลไม่รับรอง หมายความว่า เป็นการคืนตำแหน่งให้แก่ยุน
ในกรณีที่ยุนต้องพ้นจากตำแหน่ง จะถือเป็นประธานาธิบดีคนที่สองในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยกระบวนการขับออกของฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อจากประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ โดยกระบวนการถอดถอนปาร์ค กินเวลาระหว่างเดือน ธ.ค. 2559-มี.ค. 2560.
เครดิตภาพ : AFP