เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงกรณีการเสียชีวิตของพยาบาลวัย 30 ปี ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ระบุว่าวัคซีนชิโนแว็ค หลังจากฉีดสองเข็มจะเห็นภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ที่ 30 วัน หลังจากฉีดเข็มที่สอง

ในระยะแรก ที่พวกเราทำงานจะไม่ค่อยเห็นบุคลากรทางสาธารณสุขติดเชื้อเท่าไหร่และที่ติดอาการไม่ค่อยมาก แต่แน่นอนแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้โดยมีปริมาณไวรัสในจำนวนสูง

ในระยะต่อมา พวกเราเริ่มติดเชื้อกันมากขึ้นเรื่อยๆ น้องพยาบาลหมอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ เด็กๆ ที่เพิ่งจบการอบรม กำลังจะไปทำงานที่ต้นสังกัดที่ต่างจังหวัดพบการติดเชื้อเช่นกันและอาการเริ่มดูเหมือนเห็นชัดเจนขึ้น เริ่มมีปอดอักเสบขึ้น แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิตและเราก็เชื่อมั่นว่าอย่างน้อยอาการก็ไม่หนัก และจนกระทั่งที่เห็นในรายนี้

ทั้งนี้เมื่อเราตรวจสอบภูมิคุ้มกันในเลือดของพวกเรากันเอง รวมทั้งคนที่ปฏิบัติงานในห้อง lab ที่ต้องเจอเชื้ออยู่ตลอดทุกวัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในระยะแรกจะสูงถึง 90% ก็ตกลงมาเหลือ 30 ถึง 40%

และเมื่อทำการวิเคราะห์รายที่ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับพอใช้ได้คือ 70% ปรากฏว่าสู้กับไวรัสแอลฟ่า และเดลต้าแทบไม่ได้เลย ซึ่งเป็นงานของอาจารย์ ดร.อนันต์ ที่ไบโอเทคร่วมกันกับอาจารย์หมอเขตต์ สถาบันโรคทรวงอกและกับพวกเรา ที่วิเคราะห์ระดับภูมิคุ้มกันในเลือด

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า มีโอกาสจะเจอผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการอยู่ตลอดเวลา เมื่อติดมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทั้งผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน เกิดปัญหาในผู้ป่วยและเกิดปัญหาที่บุคลากรต้องหยุดงานพักตัว กักตัว และกับโรคของตนเอง

ที่พวกเราร้องขอวัคซีนบูสเตอร์ เข็มที่สามและให้ข้อมูลว่าเมื่อฉีดเข็มที่สามด้วยวัคซีนที่ต่างจากชิโนแว็ค ไปแล้วจะทำให้ภูมิสูงขึ้นมากและทนทานต่ออัลฟ่าและเดลต้าได้ เรียนย้ำพวกเราไม่ใช่วีไอพีไม่ใช่คนที่มีอภิสิทธิ์กว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศ