นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารทดแทนรถด่วนพิเศษ และรถด่วน จำนวน 14 ขบวน 182 คัน (ตู้) พร้อมอะไหล่ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 10,502 ล้านบาท เพื่อทดแทนขบวนรถไฟเก่าที่มีอายุการใช้งานมากว่า 50 ปี โดยจะให้บริการ 12 ขบวน และสำรองไว้ 2 ขบวน ซึ่งคาดว่าประมาณเดือน ธ.ค. 67 จะสามารถเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อขอกู้เงินในการจัดซื้อรถโดยสารดังกล่าว และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ประมาณเดือน มี.ค. 68 เปิดประมูลประมาณเดือน ก.พ. 69

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า คาดว่าจะส่งมอบขบวนรถชุดแรก 2 ขบวนได้ประมาณเดือน พ.ค. 71 จากนั้นจะส่งมอบขบวนรถอีก 4 ขบวน ประมาณเดือน ก.ย. 71 อีก 4 ขบวน ประมาณเดือน ม.ค. 72 และอีก 4 ขบวนสุดท้าย ประมาณเดือน พ.ค. 72 อย่างไรก็ตาม สำหรับขบวนรถไฟดังกล่าว จะมีคุณสมบัติ (Spec) เดียวกับรถโดยสาร 115 คัน (CNR) ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาการให้บริการ 6 ปี รถดังกล่าวได้รับความนิยมจากผู้โดยสารอย่างมาก เมื่อเปิดจองตั๋วโดยสารเต็มอย่างรวดเร็วทุกครั้ง ทั้งนี้ขบวนรถชุดใหม่จะนำไปให้บริการในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ขบวนที่ 13, 14, 51 และ 52, เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี ขบวนที่ 67 และ 68, เส้นทางกรุงเทพ-สุไหงโก-ลก ขบวนที่ 37 และ 38, เส้นทางกรุงเทพ-กันตัง ขบวนที่ 83 และ 84 และกรุงเทพ-นครศรีธรรมราช ขบวนที่ 85 และ 86

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับรถโดยสารฯ 1 ขบวน ประกอบด้วย 12 ตู้ รวม 444 ที่นั่ง (ขบวนเดิม 460 ที่นั่ง) ให้บริการทั้งชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 แบ่งเป็นชั้น 1 จำนวน 3 ตู้ รวม 72 ที่นั่ง, ชั้น 2 จำนวน 6 ตู้ รวม 236 ที่นั่ง, ชั้น 3 จำนวน 2 ตู้ รวม 136 ที่นั่ง และตู้สำหรับปั่นไฟ 1 ตู้ อย่างไรก็ตาม ขบวนรถดังกล่าวจะเป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ถือเป็นการให้บริการรถชั้น 3 ชุดแรกที่ปรับจากการให้บริการพัดลม เป็นรถปรับอากาศ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม สำหรับขบวนรถที่รถใหม่จะไปวิ่งทดแทนนั้น จะพิจารณาเลือกคันที่ยังสามารถใช้งานได้ดีไปเสริมการเดินรถในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนค่าโดยสารชั้น 3 ที่ปรับจากพัดลมเป็นปรับอากาศ จะมีการปรับขึ้นหรือไม่ นายอนันต์ กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เบื้องต้นค่าโดยสารจะยังเท่าเดิม แต่อาจจะมีการปรับเพิ่มในส่วนของค่าธรรมเนียม