วุฒิสภาสหรัฐลงมติเป็นเอกฉันท์ในวันพฤหัสบดี ผ่านร่างกฎหมายห้ามการออกใบอนุญาตอุปกรณ์จากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกา เพื่อกีดกันกลุ่มบริษัท เช่น Huawei Technologies Co Ltd หรือ ZTE Corp ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศ

กฎหมายรักษาความมั่นคงด้านอุปกรณ์นี้เป็นความพยายามครั้งล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐในการจำกัดธุรกิจบริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของจีน ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐด้วยคะแนนเสียง 420-4 เหลือเพียงขั้นตอนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามและประกาศใช้

“บริษัทที่ควบคุมโดยรัฐบาลจีนอย่าง Huawei และ ZTE นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงแห่งชาติ และไม่มีที่ยืนในเครือข่ายโทรคมนาคมของเรา” มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันกล่าว

กฎหมายดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้คณะกรรมการกำกับกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐ (Federal Communications Commission หรือ FCC) ทบทวนหรือออกใบอนุญาตสำหรับอุปกรณ์ใหม่ให้บริษัทต่างๆ ที่อยู่ใน “รายชื่ออุปกรณ์หรือบริการที่ต้องเฝ้าระวัง” ของ FCC

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา FCC ระบุชื่อบริษัทจีน 5 บริษัทว่า เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติภายใต้กฎหมายปี 2562 ที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบได้แก่ Huawei, ZTE, Hytera Communications Corp, Hangzhou Hikvision Digital Technology Co และ Zhejiang Dahua Technology Co.


ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2564 ทาง FCC ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เดินหน้าแบนการอนุมัติอุปกรณ์จากบริษัทจีนเหล่านั้นในเครือข่ายโทรคมนาคมของสหรัฐ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมผ่านร่างกฎหมาย ส่วนโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนแสดงความเห็นถึงการกระทำของ FCC ว่าเป็นการใช้อำนาจกดขี่บริษัทธุรกิจของจีนโดยไม่มีเหตุผล เช่นเดียวกับโฆษกของ Huawei ซึ่งปฏิเสธหลายครั้งว่าบริษัทไม่ได้โดนควบคุมโดยรัฐบาลจีน มีความเห็นว่า “เป็นการชี้นำที่ผิดและลงโทษโดยไม่จำเป็น”

เบรนแดน คาร์ กรรมาธิการของ FCC กล่าวว่าคณะกรรมาธิการเคยอนุมัติแอปพลิเคชันมากกว่า 3,000 รายการจาก Huawei ตั้งแต่ปี 2561 คาร์กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ “จะช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ไม่ปลอดภัยจากบริษัทต่างๆ เช่น Huawei และ ZTE จะไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาในเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐได้อีกต่อไป”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา FCC ได้ลงมติให้เพิกถอนการอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือของ China Telecom ในสหรัฐ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ

เครดิตภาพ : Reuters