“โมเดลสิงคโปร์” เป็นที่พูดถึงในวงกว้างก่อนหน้านี้ พร้อมถกเถียงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้มงวดได้ไม่ต่างกัน ในเรื่องนี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถาม ร.ต.อ.กิตติภูมิ เกิดมั่น ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการบังคับใช้และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเผยมิติกฎหมายใหม่ที่จะนำมาใช้ว่าควรเข้มงวด และเชิงรุกมากขึ้น เพื่อจัดการกับห่วงโซ่อุปทานของอาชญากรรมที่อาชญากรใช้กระทำผิดในทุกระดับและทุกขั้นตอน

สำหรับกฎหมายฉบับใหม่มีหลักการให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการด้านสื่อสาร มีบทบาทชัดเจนในการร่วมรับผิดชอบเน้น 4 ประเด็น 1.การให้มีหน้าที่เปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยระหว่างกัน 2.การให้มีหน้าที่ปฏิเสธการดำเนินการกับบัญชี หรือระงับธุรกรรมต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

3.การมีคณะกรรมการป้องกันปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ปรับปรุงให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และ 4.การกำหนดโทษที่ชัดเจนและค่อนข้างรุนแรงกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการฯ กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงความประมาทเลินเล่อที่ปล่อยให้เกิดการกระทำผิดด้วย

การร่วมรับผิดชอบต้องมองเป็น 3 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 ก่อนเกิดเหตุ ต้องมีมาตรการที่รัดกุมในการเปิดบัญชี และทำธุรกรรม ช่วงที่ 2 คาบเกี่ยวก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการฯ ด้วยกันเอง รวมถึงหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจที่พบธุรกรรมต้องสงสัย หรือบัญชีที่ถูกกำหนด โดยสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการฯ มีหน้าที่ปฏิเสธการให้บริการ เช่น การเปิดบัญชี หรือปฏิเสธการทำธุรกรรมแบบชั่วคราวได้ จนกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ช่วงที่ 3 หลังเกิดเหตุ คือ ให้สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการฯ ต้องระงับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบัญชีต้องสงสัย หรือบัญชีที่ถูกกำหนด และสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายไปยังต้นทางได้โดยตรง รวมถึงร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้เสียหายด้วย หากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบในแง่บังคับใช้กฎหมายปัจจุบันจะเห็นความแตกต่าง เพราะสิงคโปร์มีแนวทางเด็ดขาดและเชิงรุก มีการกำหนดกรอบทำงานชัดเจนเพื่อรับผิดชอบร่วมกัน การให้สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการฯ ร่วมรับผิดชอบ “คืนเงิน” เป็นลำดับชั้น โดยสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก และผู้ให้บริการฯ รองลงมา หากพิสูจน์ได้ว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุกที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องเตือนภัยแก่ลูกค้า และต้องมีระบบตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยอย่างเหมาะสม

ขณะที่กฎหมายประเทศไทยยังเน้นไปที่ “ตั้งรับ” คือ เกิดเหตุแล้วค่อยสืบสวน สอบสวน จับกุม ทำให้เกิด “ภาระ” ทางคดีกับผู้บังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งระบบเยียวยาที่ยังล่าช้าจากหลายปัจจัย สำหรับผู้เสียหายยังมีทั้ง “ภาระความเสียหาย” และ “ภาระพิสูจน์ความผิด” ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อน ประสานขอข้อมูลหลายหน่วยงาน เป็นกระบวนการแบบดั้งเดิมที่ยังใช้เวลานาน

“ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเป็นความท้าทายเรื่องสัดส่วนเจ้าหน้าที่ที่ต้องมารับปริมาณคดีที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีก่ออาชญากรรม ไม่ใช่แค่ผลกระทบกับเหยื่อ แต่ยังลามไปจนถึงความยากลำบากของเจ้าหน้าที่”

ทั้งนี้ เสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันภัย ได้แก่ 1.มิติกฎหมายฉบับใหม่ ที่เร่งประกาศใช้ เพราะมีสาระสำคัญครอบคลุมหลายประเด็นทั้งให้มีการร่วมรับผิดชอบ, การกำหนดโทษที่ชัดเจนรุนแรงขึ้น เช่น โทษบัญชีม้า การนำข้อมูลผู้อื่นไปใช้กระทำผิด หรือการที่สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการฯ ไม่เปิดเผยข้อมูล หรือไม่ปฏิเสธธุรกรรมกับบัญชีต้องสงสัย และยังหมายความรวมถึงการกระทำโดยล่าช้าเป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหาย และเรื่องการคุ้มครองสิทธิที่มีการเปิดช่องให้ธนาคารคืนเงินไปยังต้นทางได้ทันทีหากพบธุรกรรมต้องสงสัย

ดังนั้น ร่างกฎหมายใหม่จะครอบคลุมใกล้เคียงสิงคโปร์และมีความเป็นสากล ต่างเล็กน้อยในทางปฏิบัติที่เรียกว่า มาตรการที่เหมาะสม ซึ่งต้องดูตามบริบทแต่ละประเทศ เช่น กรอบการทำงานเพื่อร่วมรับผิดชอบของสิงคโปร์ระบุชัดว่าสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการฯ ต้องมีการเตือนภัย (ก่อนทำธุรกรรมเสี่ยง) เช่น การมีการแจ้งเตือนบนหน้าจอ หรือปุ่มการใช้งาน และมีระบบคัดกรองตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยภายในองค์กร ซึ่งเป็นการระบุชัดในทางปฏิบัติ

ส่วนประเทศไทยอาจอยู่ในประกาศกฎหมายฉบับรองลงมาของหน่วยงานกำกับดูแล หรืออยู่ในกฎหมายฉบับใหม่เลยก็เป็นไปได้

2.การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์แก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ที่เป้าหมายดีแต่ในส่วนปฏิบัติอาจยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอาจต้องปรับปรุง เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น, ปรับปรุงกระบวนการประสานงานให้ลื่นไหล ใช้งานง่ายขึ้น, ควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขีดความสามารถ ยกตัวอย่าง การใช้ AI วิเคราะห์ ตรวจสอบ เชื่อมโยง ข้อมูลต่างๆ รวมถึงใช้ในระบบอัตโนมัติในบางขั้นตอน เพื่อลดลดภาระงาน

และ 3.การจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย เพราะการมีคณะกรรมการร่วมจากหลายหน่วยงาน ทำให้การดำเนินการทำได้รวดเร็วขึ้น เปรียบเสมือนมี “เจ้าภาพ” มีอำนาจตัดสินใจทันที เช่น ในกรณีของต้องเปรียบเทียบปรับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการฯ ที่ละเมิดกฎหมาย รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน