พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อพิจารณาออกมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ตำรวจ, ปปง., สกมช., สมาคมธนาคารไทย และผู้ประกอบการมือถือ โดยได้ข้อสรุป ดังนี้ 1.นำระบบยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์ มาใช้ในการลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อคัดกรองและลดการปลอมแปลงข้อมูล 2.จำกัดการลงทะเบียนซิมชาวต่างชาติได้ไม่เกิน 3 ซิม/คน/ค่าย และให้ใช้พาสปอร์ตลงทะเบียนเท่านั้น และ 3.เซต ซีโร่ ระบบเอสเอ็มเอส แนบลิงก์ ให้ผู้ประกอบการทุกรายลงทะเบียนใหม่ และส่งลิงก์มาให้ตรวจก่อนส่ง เริ่มวันที่ 1 ก.พ. 68
“จะเร่งเสนอร่างฯ เกี่ยวกับใช้แบบไบโอเมตริกซ์ เข้าประชุมบอร์ดให้ทัน 22 ม.ค.นี้ หากบอร์ดเห็นชอบจะนำไปประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับให้สมบูรณ์ จากนั้นจะนำกลับมาเสนอบอร์ดเห็นชอบอีกครั้ง โดยจะเร่งให้สามารถออกมาประกาศใช้ให้ทันภายใน 3-6 เดือน แต่ระหว่างนี้ทางผู้ประกอบการหากมีความพร้อมสามารถดำเนินการก่อนได้ เพื่อช่วยเหลือประเทศและประชาชน”

นอกจากนั้น ยังได้หารือมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น กำหนดให้แสดงชื่อผู้โทรเข้าแทนเลขหมาย (คอลเรอร์ ไอดี) และการกำหนดให้ระบบ โมบายแบงก์กิ้ง ต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากซิมการ์ดเท่านั้น เมื่อต้องการโอนเงินจำนวนมากๆ มาตรการเหล่านี้จะทำให้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวต่อว่า จากที่ กสทช. ร่วมกับตำรวจ ตรวจยึดซิมบ็อกซ์และซิมการ์ดจำนวนมาก เมื่อทำการตรวจสอบพบว่าซิมการ์ดเหล่านี้ส่วนใหญ่ลงทะเบียนโดยคนต่างชาติ ด้วยเอกสารแสดงตนปลอม หรือใช้ภาพบุคคลอื่น ที่ประชุมจึงได้หารือเพื่อเสนอออกประกาศ กสทช. ให้ใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบไบโอเมตริกซ์ หรือข้อมูลชีวภาพ และจำกัดการลงทะเบียนซิมของแรงงาน 3 สัญชาติได้ไม่เกิน 3 ซิม/คน/ค่าย โดยต้องใช้พาสปอร์ตลงทะเบียนเท่านั้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือมาตรการสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สำคัญอื่นๆ เช่น การแสดงชื่อผู้โทรเข้า และการใช้เน็ตจากซิมในการโอนเงินจำนวนมากๆ มาตรการเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทำงานได้ง่ายขึ้น ขณะที่กลุ่มมิจฉาชีพก็จะก่ออาชญากรรมลำบาก
พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผอ.ศปอส.ตร. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอมาตรการ Caller ID ระบบจะแสดงชื่อผู้โทรเข้า เพื่อให้ผู้รับสายปลายทางทราบ ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพโทรฯหลอกลวงประชาชนได้ยากขึ้น โดยได้หารือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ในส่วนของการปราบปรามซิมผีนั้น ตนได้สั่งการไปยังหน่วยในสังกัด ตร. ให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ กสทช. ในการกวดขันจับกุมดีลเลอร์ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อปิดช่องโหว่ในการลงทะเบียนซิมการ์ดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ มาตรา 9 และ 11 มีทั้งโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ

อนึ่ง การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กสทช., ปปง., และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้ เป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และป้องกันปัญหาเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวงทางออนไลน์
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ทาง ปปง. ได้เสนอมาตรการ โมบายแบงก์กิ้ง โดยกำหนดให้การโอนเงินจำนวนมากๆ เช่น จำนวน 50,000 บาทขึ้นไป ต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากซิมการ์ด โดยจะต้องทำควบคู่กับการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า ซึ่งจะทำให้การโอนเงินของกลุ่มมิจฉาชีพทำงานได้ยากขึ้น