เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 68 มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Atthasit Dul-amnuay” หรือนาวาตรี นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แผนกนิติเวชศาสตร์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช ได้ออกมาโพสต์ไขข้อสงสัย “ทำไมศพเน่าจึงดูเหมือนศพที่ได้รับการบาดเจ็บ” ซึ่งมี 8 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ศพเน่าเต็มที่จากการจมน้ำประมาณ 48-72 ชั่วโมง แบคทีเรียจะเจริญเติบโตภายหลังการตายและมีการสร้างก๊าซทั้งภายนอกและภายในลำตัว ศพจึงบวมพองโดยทั่วเหมือนลูกโป่ง (bloating) และมีกลิ่นแรง สภาพจึงเปลี่ยนไปไม่เหมือนศพจมน้ำหรือผีที่เห็นในหนัง
2. ใบหน้าจะบวมพอง เปลือกตาบวม ตาถลนออกจากเบ้า ลิ้นจุกคับปาก ริมฝีปากเผยอปลิ้นออก เนื่องจากการดันตัวของก๊าซทำให้ดูเหมือนการถูกรัดคอได้ (strangulation)
3. ถุงน้ำ (blisters) ที่เกิดจากการสะสมของเหลวที่เกิดจากการเน่า จะดูบวมพองเหมือนโดนความร้อนได้ พอถุงน้ำเหล่านี้แตกออกก็จะเกิดผิวหนังหลุดลอกตามมา (slippage of skin) เนื่องจากเกิดการเสียดสี ทำให้ดูเหมือนมีบาดแผลถลอกได้ (abrasion)
4. ผิวหนังของศพเน่าจะเปลี่ยนสีเป็นแดง ม่วง เขียวและดำ (discoloration) ทำให้ดูเหมือนบาดแผลฟกช้ำได้ (contusions) และเลือดในเส้นเลือดเปลี่ยนสภาพกลายเป็นลวดลายเหมือนหินอ่อน (marbling) ส่งผลให้ดูน่ากลัวขึ้นไปอีก
5. ของเหลวที่เกิดจากการเน่า (purge fluid) จะไหลออกช่องเปิดต่างต่างของร่างกาย เช่น ปาก จมูก และทวารหนักทำให้ดูเหมือนเลือดได้ด้วยในคนที่ขาดประสบการณ์
6. ผิวหนังตามธรรมชาติของมนุษย์จะมีรอยพับหรือรอยย่น (skin folds หรือ creases) ซึ่งเมื่อเสียชีวิตแล้วเกิดสภาพเน่าจะพบเห็นรอยพับและรอยย่นชัดขึ้นเป็นแถบสีซีดได้ และมักถูกตีความผิดว่าเป็นรอยมัดจากเชือก (ligature mark)
7. ระหว่างที่ศพลอยอยู่ในน้ำอาจมีการเกิดบาดแผลภายหลังการตายต่างต่างมากมาย จากสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุอื่นอื่นที่มากระทำหรือกระทบกระแทก (postmortem artifacts) เช่น ปลา ปู ตัวเงินตัวทอง เรือ ใบพาย เป็นต้น
8. การเคลื่อนย้ายศพขึ้นจากน้ำทำได้หลายวิธี จากประสบการณ์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีใช้เชือกผูกกับศพแล้วลากไปยกขึ้นบนเรือหรือขึ้นบนบก แล้วแต่กรณีกรณีไป เพราะฉะนั้นถ้าเจอเศษเชือกผูกมากับศพก็ไม่แปลก
ดังนั้น การดูศพเน่าโดยผู้ไม่มีประสบการณ์มากพอ มักจะแปลปรากฏการณ์เน่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นบาดแผลที่เกิดการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายอยู่บ่อยครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : Atthasit Dul-amnuay และ illuminatingcurios