สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ว่านางเฮเลน ลา ไลม์ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเฮติของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองในเฮติ หลังประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่าปัจจุบันรักษาการผู้นำเฮติ คือนายโคลด โจเซฟ ซึ่งจะบริหารประเทศจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
อย่างไรก็ตาม การรัฐธรรมนูญของเฮติ "มีเนื้อหาที่ทำให้หลายฝ่ายตีความกันได้ต่างออกไป" การเจรจาระหว่างทุกขั้วการเมืองที่เห็นต่างกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  ขณะเดียวกัน ลา ไลม์ กล่าวว่า ในนามของผู้แทนยูเอ็น เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งทั่วไประยะแรก ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ "จะเป็นไปด้วยความราบรื่น"  และตามด้วยการเลือกตั้งระยะที่สอง ในเดือนพ.ย.ปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ลา ไลม์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลรักษาการของเฮติส่งหนังสือถึงยูเอ็น "ขอความสนับสนุนด้านความมั่นคง" เพื่อการรักษาเสถียรภาพและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับสถานที่สำคัญในประเทศ ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่ "เฮติต้องระบุความต้องการของตัวเองให้ชัดเจน"
ทำเนียบประธานาธิบดีเฮติ ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ลงธงชาติลงครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส
ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์ในเฮติมีแนวโน้มซับซ้อนและวุ่นวายมากขึ้น เมื่อนายจิมมี เชอริเซียร์ ผู้นำ "สหพันธ์จี9" ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างเปิดเผยของแก๊งอาชญากรรมในเฮติ กล่าวว่า สมาชิกจี9 เตรียมเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนภายในเร็ววันนี้ "เพื่อเรียกร้องความกระจ่าง" ให้กับคดีการลอบสังหารประธานาธิบดี ที่เชอริเซียร์กล่าวว่า "เป็นการสมคบคิด" ระหว่างตำรวจกับนักการเมืองฝ่ายค้าน ร่วมกับ "ชนชั้นนายทุน" 
ทั้งนี้ รัฐบาลรักษาการของเฮติและตำรวจในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับ "แรงจูงใจของผู้จ้างวาน" ในการให้ทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย 26 คน และชาวเฮติ-อเมริกัน 2 คน ลงมือก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ แต่เดอะ ไมอามี เฮรัลด์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าว ว่ากลุ่มทหารรับจ้างชาวโคลอมเบียผ่านการจัดส่งโดยบริษัทด้านความปลอดภัย "ซีทียู ซีเคียวริตี" ตั้งอยู่ในเมืองไมอามี และมีเจ้าของเป็นชาวเวเนซุเอลา.

เครดิตภาพ : REUTERS, AP