นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยความคืบหน้า  โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 ชุด( 4n) ในปลาหมอคางดำ ว่า ขณะนี้ผลการวิจัยแล้วเสร็จแล้ว และจากการตรวจเบื้องต้นพบว่า ได้ปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n)  จำนวน551 ตัว  อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวนที่เหลือว่าจะได้ปลาหมอคางดำชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n)  อีกเท่าไร

“ โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ จะลงพื้นที่ดูการปล่อยปลาหมอคางดำ ชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n)  ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อควบคุมการเพิ่มจำนวนประชากรปลาหมอคางดำต่อไป”

ทั้งนี้ ปกติปลาหมอคางดำ จะมีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n)  เมื่อโครงการวิจัยสำเร็จจะได้ปลาหมอคางดำ ชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อย ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ เมื่อเกิดการผสมพันธุ์ จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ ทั้งนี้ กรมประมง ได้วางแผนระยะยาวด้วยการตั้งเป้าจะทำให้ ปลาหมอคางดำ กลายเป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ คาดว่าวิธีนี้จะช่วยควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 ปี