เมื่อวันที่ 28 ม.ค. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอขอประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier) ฉบับสมบูรณ์ของแหล่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จ.นครศรีธรรมราช ไปยังศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อนำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก สำหรับกระบวนการจากนี้ คือ 1.ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2568 ดำเนินการจัดส่งเอกสารขอประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier) ฉบับสมบูรณ์ถึงศูนย์มรดกโลก 2. เดือน ก.พ.–พ.ค. 2568 ศูนย์มรดกโลกนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการประเมินซึ่งอาจมีการประสานจากศูนย์มรดกโลก เพื่อแจ้งการได้รับเอกสาร ความคืบหน้า หรือขอข้อมูลเพิ่มเติม 3. เดือน ส.ค. 2568 เป็นต้นไปจะเข้าสู่กระบวนการตรวจประเมินประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การประเมินศักยภาพของแหล่งในพื้นที่, การประเมินคุณค่าของแหล่งตามเอกสารที่นำเสนอและการตอบข้อซักคำถาม 4. เดือน พ.ค. 2569 ศูนย์มรดกโลกจะรวบรวมความเห็นขององค์กรที่ปรึกษาฯ และจัดทำร่างมติผลการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกแจ้งต่อรัฐภาคี และพิจารณาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ และเดือน มิ.ย.–ก.ค. 2569 คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ วัดพระมหาธาตุฯ ได้รับการบรรจุรายชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 โดย วธ.ในฐานะคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้มอบหมายกรมศิลปากรให้คำปรึกษาแนะนำการปรับปรุงเอกสารนำเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier) ของแหล่งวัดพระมหาธาตุฯ อย่างใกล้ชิด ในการปรับเปลี่ยนและเลือกเฟ้นคุณค่าโดดเด่นระดับสากล (Outstanding Universal Value หรือ OUV) ที่แสดงถึงคุณค่าความสำคัญในระดับโลกของวัดพระมหาธาตุฯ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้มีการส่งร่างเอกสารไปขอรับการตรวจสอบความถูกต้องของรูปแบบและความครบถ้วนของเอกสารจากศูนย์มรดกโลก เมื่อเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยแหล่งวัดพระมหาธาตุฯ มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์ของมรดกโลกที่เลือกนำเสนอ จำนวน 2 ข้อ ดังนี้ เกณฑ์ข้อที่ 2 วัดพระมหาธาตุแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางศาสนา ความต่อเนื่องทางจิตวิญญาณ และองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนถึงอิทธิพลทางศาสนาและรูปแบบศิลปะ จากศาสนาฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาท ที่ได้รับถ่ายทอดทั่วทั้งตอนใต้ของเอเชียภาคพื้นสมุทรมาเป็นเวลาประมาณ 1,500 ปี วัดพระมหาธาตุมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลายและทรงคุณค่าซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น ศิลปะปาละจากนาลันทา ศิลปะชวาภาคกลาง ศิลปะศรีลังกา และศิลปะมอญจากเมียนมาตอนใต้ จึงเป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนทางศาสนาและสถาปัตยกรรมในมวลมนุษย์อย่างชัดเจน โดยรูปแบบสถาปัตยกรรม การปฏิบัติทางพุทธศาสนา และประเพณีที่ยังคงดำรงอยู่ของอารามแห่งนี้ ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า รวมทั้ง เกณฑ์ข้อที่ 6 วัดพระมหาธาตุเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของเมืองที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของประเพณีที่ยังดำรงอยู่ด้วยระบบความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งได้ผสมผสานระหว่างความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิม ความเชื่อในศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาในกาลต่อมา ดังเห็นได้จากการบูชา การทำบุญ และประเพณีประจำปี ลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีที่ยังสืบทอดอยู่ในอารามแห่งนี้ เช่น พิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ การแสดงโนรา การบูชาบรรพบุรุษ พิธีพราหมณ์ งานศิลปะเฉพาะถิ่น และประเพณีท้องถิ่น ต่างสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้กับชุมชนรายรอบอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นแนวทางให้กับอารามและชุมชนอื่น ๆ บนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ได้ปฏิบัติตามอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่ได้รับการบรรจุรายชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่ 1.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จ.นครศรีธรรมราช 2.กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด 3.อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา 4.พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง และ 5.สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา