เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงสะพานทศมราชัน (บางโคล่)-ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสุขสวัสดิ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนจากภาคใต้สู่กรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณด่านดาวคะนอง

นายสุริยะ กล่าวว่า การเปิดใช้งานสะพานทศมราชัน จะเปิดใช้ครบทั้ง 8 ช่องจราจร โดยจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก และประชาชนสามารถเดินทางสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัชได้อีกเส้นทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดให้ใช้สะพานทศมราชัน จะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 30% หรือประมาณ 30,000 คันต่อวัน ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 และปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนถนนพระราม 9 ถึงบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ และบริเวณถนนพระราม 2 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถ 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 มีระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้าง 86.28% เร็วกว่าแผน 1.03% คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ พร้อมเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2568 อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้สะพานทศมราชัน ประชาชนสามารถเดินทางได้จากทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ ใช้ทางขึ้นที่ด่านฯ สุขสวัสดิ์ แล้ววิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานครมุ่งหน้าบางนา-ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ-ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ส่วนทิศทางขาออกกรุงเทพฯ ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานทศมราชัน บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงของด่านฯ สุขสวัสดิ์ บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ และถนนประชาอุทิศ เพื่อไปถนนพระรามที่ 2 ได้

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การเปิดใช้สะพานทศมราชัน จะเก็บค่าผ่านทางในอัตราปกติ รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาท เนื่องจากสะพานแห่งนี้เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช โดยจะยังไม่เก็บค่าผ่านทางในการใช้สะพานทศมราชัน ที่ด่านสุขสวัสดิ์ในอัตรา 10 บาท จะเก็บค่าผ่านทางเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทางทั้งโครงการ ปัจจุบันกำลังเร่งเปิดประกวดราคาสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร คาดว่าจะเปิดให้ยื่นเอกสารประมูลในเดือน ก.พ.-มี.ค. 68 ได้ผู้รับจ้างเดือน มี.ค.-เม.ย. 68 และเริ่มงานเดือน เม.ย. 68 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 68 ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มระบบแบบเก็บค่าผ่านทางประมาณต้นเดือน ม.ค. 69

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กทพ. เตรียมเปิดประมูลหาผู้รับจ้างซ่อมแซมสะพานพระราม 9 ซึ่งเปิดใช้งานมาประมาณ 35 ปีแล้ว คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างประมาณปลายปี 2568 เริ่มปิดซ่อมในปี 2569 ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงไม่เกิน 1 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิม เนื่องจากเดิมจะเปลี่ยนเส้นเคเบิล แต่ใช้วิธีซ่อมสายเคเบิลแทน ยืนยันว่าได้มาตรฐาน และปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเป็นการทยอยปิดบางช่องจราจร ไม่ได้ปิดพร้อมกันทั้งหมด ส่วนรายละเอียดการทำงานจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ต้องวางแผนหารือกับผู้รับจ้างอีกครั้ง.