นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) สายด่วน 1441 กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี( ครม.) เห็นชอบใน พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผ่านความเห็นของ ครม. แล้วนั้น ถือเป็นกรอบในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา โดยทางทางศูนย์ เอโอซี กำลังจะดำเนินการแยกเลขหมายมือถือ ที่ถูกนำไปใช้ในการกระทำผิดว่าเป็นของค่ายมือถือใดบ้าง เพื่อให้เห็นสถิติ ช่วยให้ค่ายมือถือมีการกวดขันเข้มงวดให้การอนุญาตให้เปิดซิมการ์ดในการใช้งาน

“ตอนนี้ทางศูนย์เอโอซี ได้ประสานไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อทำผังข้อมูลว่า กลุ่มเบอร์มือถือที่ผู้เสียหายโทรฯเข้ามาแจ้ง เป็นของค่ายมือถือไหนบ้าง หลังจากที่ผ่านมาสามารถดูข้อมูลได้ว่า ธนาคารใดมีบัญชีม้าที่ไปใช้ทำผิดกฎหมายบ้าง ทำให้บัญชีม้าลดลงกว่า 40% และธนาคารมีกวดขันสอบถามผู้มาเปิดบัญชีธนาคารมากขึ้น ซึ่งหากแบ่งแยกเบอร์มือถือของค่ายใด เพื่อให้ค่ายมือถือช่วยกวดขันเรื่องซิมที่ถูกนำไปทำผิดกฎหมายหลังจากที่ผ่านมามีการจับกุมซิมการ์ดของทางตำรวจจากแก็งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก และยังมีกรณีในอดีตมีการแจกซิมการ์ด หรือขายพ่วงแจกซิม ทำให้การลงทะเบียนยืนยันตันตนเปิดใช้งานเบอร์อาจไม่มีความเข้มงวดเต็มที่”

นายเอกพงษ์ กล่าวต่อว่า   พ.ร.ก. ฉบับแก้ไข เป็นกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ต้องไปลงรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างเช่น เรื่อง ธนาคารและผู้ให้บริการมือถือต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ก็ต้องดูรายละเอียดว่า ทางธนาคารและมือถือได้ละหลวมปล่อยปะละเลยไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดหรือไม่  ซึ่งตอนนี้ประชาชนเข้าใจผิดไปทางเดียวกันว่าจะได้เงินคืนหมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริง ต้องไปดูด้วยว่า ผู้ใช้งานเป็นคนโอนเอง หรือเกิดจากความโลภ อยากได้เงินจากการชักชวนของมิจฉาชีพหรือไม่  ซึ่งจากสถิติกว่า  90%  เจ้าของมือถือ หรือผู้ใช้งานแอปธนาคารจะเป็นผู้กดโอนเองโดยที่ไม่รู้ตัว  ซึ่งจะต้องมีการลงรายละเอียดในการพิสูจน์ในเรื่องความรับผิดชอบ และเชื่อว่าทางธนาคารคงมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อเตือนผู้ใช้งานเพิ่มอีก ขณะเดียวกับทางศูนย์เอโอซี ก็จะมีการทำประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกัน

“กรณีที่ธนาคารต้องรับผิดชอบ คือกรณี บัญชีม้าที่ถูกประกาศเป็นบัญชี เอชอาร์ 03 แล้ว แต่ธนาคารยังไม่ปิด หรือปล่อยให้ยังใช้ทำธุรกรรมได้ แม้ว่าทางหน่วยงานรัฐจะแจ้งไปแล้ว ซึ่งหากถูกนำไปใช้รับโอนเงิน หรือหลอกเหยื่อ กรณีแบบนี้ทางธนาคารจะต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายด้วย” นายเอกพงษ์ กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการกฎหมาย กล่าวว่า พ.ร.ก.ที่แก้ไขนี้ เป็นการเขียนเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายอื่นๆในการให้อำนาจแต่ละหน่วยงานมีอำนาจในการทำงาน จากเดิมที่เรื่องบางเรื่องไม่กล้าทำเพราะกฎหมายของตนเองไม่ได้ระบุอำนาจไว้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ได้เข้มงวดถึงขั้นระบุสัดส่วนการชดใช้ค่าเสียหายแบบสิงคโปร์ และกฎหมายก็รู้ว่าอาจเป็นช่องของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นเหยื่อ ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินทันทีจากค่ายมือถือ หรือ ธนาคาร หากแต่ต้องมีการร้องเรียน หรือ พิสูจน์ทราบก่อน ว่าเส้นทางการถูกหลอกลวงเป็นอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการคืนเงินเป็นดุลพินิจของศาล  นอกจากนี้ยังเป็นการปิดเส้นทางโอนเงินไปยังคริปโตด้วยการกำหนดโทษสำหรับผู้โอนเงินและเจ้าของแพลตฟอร์มคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งเป็นช่องทางทีมิจฉาชีพนิยมถ่ายโอนเงินผู้เสียหายออกไปให้เป็นเงินสกุลดิจิทัล