หลัง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าคุมตัวเดวิดภายในบ้านพัก จ.กาญจนบุรี ในฐานะผู้ต้องสงสัยมี “หมายน้ำเงิน” จากทางการอังกฤษ ด้วยกรอบ ความร่วมมือทางคดีอาญา (MLAT) พร้อมแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพิกถอนวีซ่า ผลักดันออกนอกประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เดวิดต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นครั้งแรก หลังล่าช้ามากว่า 20 ปี
ย้อนรอยเหตุใดจึงปล่อยเวลาเนิ่นนาน และอะไรเป็น “จุดเปลี่ยน” ให้คดีคืบหน้าอีกครั้ง “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามเรื่องราวเชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ของดีเอสไอ ระบุ คดีนี้เริ่มต้นจากตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์ที่สืบสวนสอบสวนการเสียชีวิตของลำดวน ซึ่งพบเป็นร่างไร้วิญญาณตั้งแต่ เดือน ก.ย.2547 กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินเขาเป็นผู้ไปพบร่างในอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์เดลส์ ช่วงแรกไม่สามารถระบุตัวตนได้ จนผ่านไปกว่า 10 ปี
ต่อมา ปี 2559 มีการส่งคดีหญิงเอเชียนิรนามไปให้ทีมสืบสวน คดีที่ปิดไม่ลง (Cold Case) โดยชาวบ้านร่วมกันนำร่างหญิงดังกล่าวไปฝังไว้ในสุสาน ตั้งชื่อให้เธอว่า “THE LADY OF THE HILLS” หรือ สตรีแห่งขุนเขา และเนื่องจากเบาะแสขณะนั้นพบว่าอาจเป็นหญิงไทย จึงมีการประสานงานกัน กระทั่งดีเอสไอมีการตั้ง เลขสืบสวนที่ 60/2562 และร่วมกับกรมการปกครอง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เก็บสารพันธุกรรม นายบัวสา-นางจูมศรี สีกันยา พ่อแม่ของลำดวน ไปพิสูจน์และชัดเจนว่าร่างหญิงนิรนามที่นอนสงบในสุสานนั้นคือ ลำดวน เป็นผลให้ตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์ตัดสินใจรื้อคดี
พ่อแม่และญาติลำดวน เคยให้ข้อมูลน่าสนใจว่าครั้งสุดท้ายที่กลับมาเยี่ยมบ้านปี 2546-2547 ลำดวนเคยเล่าว่าถูกสามีทำร้ายบ่อยครั้ง และมักมีปากเสียงกัน ซึ่งผู้เป็นแม่เคยสังเกตเห็นร่องรอยฟกช้ำ และหลังเดินทางกลับไป ก็ไม่เคยติดต่อได้อีกเลย
สำหรับลำดวนตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์ พบมาอาศัยที่อังกฤษตั้งแต่ปี 2534 โดยแต่งงานกับเดวิดและมีลูกด้วยกันเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ที่พักของทั้งคู่อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์เดลส์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเพื่อนบ้านยืนยันตรงกันว่าคู่นี้มักมีปากเสียงและมีการทำร้ายร่างกาย
สิ่งสำคัญที่ไม่ได้รับการคลี่คลายขณะนั้นคือ พฤติกรรมอันมีพิรุธเมื่อปรากฏว่าเดวิดหอบลูกเดินทางมาไทย โดยไม่แจ้งบุคคลสูญหาย หรือแจ้งความ ทำให้ตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์ยังไม่เคยได้สอบปากคำเดวิด ซึ่งหลังมาไทยทั้งเดวิดและลูก อาศัยในพื้นที่กาญจนบุรีมาโดยตลอด โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จึงได้วีซ่าทำงาน สัญญาจ้างปีต่อปี (เริ่ม 20 มิ.ย.2550 สิ้นสุดสัญญาสุดท้าย 13 พ.ค.2562) ปัจจุบันเกษียณแล้ว และมีการแต่งงานใหม่กับหญิงไทย ทำให้ได้วีซ่าคู่สมรส
ด้วยความที่เดวิดถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญ และอีกสถานะก็เป็นผู้ต้องสงสัย ตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์จึงยังคงพยายามจะสืบสวนต่อ จนห้วงเวลาสำคัญมาถึง
ใน ปี 2566 มีการประสานความร่วมมือทางอาญาผ่านมายังอัยการสูงสุดของไทย ซึ่งได้มอบให้ดีเอสไอดำเนินการติดต่อขอสอบปากคำเดวิด แต่เดวิดใช้สิทธิไม่ตอบคำถาม ไม่ให้ข้อมูล ต่อมาเดือน ก.ย.2567 ตำรวจนอร์ธยอร์กเชียร์ยังได้ประสานความร่วมมือมายังไทยอีกครั้ง เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม ด้วยเดวิดมีพฤติการณ์เป็นผู้ต้องสงสัยคดีอาญา แต่พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอขอศาลออกหมายจับ หรือ หมายแดง จากองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ตำรวจสากล แต่มีพยานหลักฐานควรเชื่อว่าเกี่ยวข้อง
ดังนั้น จึงออกเป็น “หมายน้ำเงิน” และทางการไทยเข้าคุมตัว เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันกลับ และจากนี้เป็นอำนาจเต็มของอังกฤษที่จะนำตัวเดวิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่สังคมมีคำถามตลอด 20 ปี ทำไมจึงปล่อยเดวิดใช้ชีวิตปกติ เรื่องนี้มาจากที่ไทยไม่สามารถทราบรายละเอียดพฤติการณ์ ความเกี่ยวข้องในคดีที่เชื่อได้ว่าเดวิดเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือต้องถูกจับดำเนินคดี เพราะอังกฤษยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานขอใช้สนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หรือการออกหมายแดงได้ จนมี “หมายน้ำเงิน” เสมือนใบการันตีว่าตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีแล้ว
พร้อมไขสงสัย เหตุที่ไม่สามารถนำร่างลำดวนกลับไทย เพราะกฎหมายระบุชัด “ร่าง” คือ พยานหลักฐานทางคดีอาญา ไม่สามารถนำกลับได้ และกฎหมายอังกฤษระบุว่า สามี/ภรรยาโดยชอบของกฎหมายเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจเคลื่อนย้ายศพ หรือต้องได้รับความยินยอม
เมื่อเดวิดไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทำให้ศพลำดวนยังต้องอยู่ที่อังกฤษ เว้นแต่เดวิดเสียชีวิต หรือตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมหรือคดีอาญา อำนาจจัดการศพจึงตกเป็นของบิดามารดาโดยสายเลือด.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน