“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน–สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธานแล้ว

โดยที่ประชุมรับทราบ พร้อมทั้งเห็นชอบแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ตามที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอเพิ่มเติมจากเส้นทางที่ คจร. มีมติเห็นชอบเมื่อปี 2561 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ตามนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งลงพื้นที่ติดตามการเชื่อมโยงระบบขนส่ง และการเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงต้นปี 2567
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบในการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ให้สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) จากสายสีเขียว เป็นสายสีส้ม ช่วงโรงพยาบาลเทพรัตน์–สถานีร่วมจอหอ ตามข้อเสนอของประชาชน เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากแนวเส้นทางสายสีเขียวตามแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อปี 2561 ไม่สอดคล้องต่อสภาพการจราจร และบริบทพื้นที่เมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน ขณะที่แนวเส้นทางสายสีส้ม ผ่านเขตชุมชน สถานศึกษา โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้า มีประชากรหนาแน่น และการจราจรติดขัด จะช่วยลดปัญหาการขนส่งมวลชน และจราจรในเขตเมืองได้

ที่ประชุม คจร. จึงมอบให้ รฟม. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบทั้ง 2 โครงการ เพื่อจัดทำข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม และนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนารูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะทำให้ระยะทางสายสีแดงเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจากที่ รฟม. ประเมินเบื้องต้นโดยเทียบเคียงกับข้อมูลการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง พบว่า จะมีระยะทางเพิ่มขึ้น 5 กิโลเมตร (กม.) จากเดิม 15.8 กม. ขณะที่สถานีเพิ่มขึ้น 3 สถานี จากเดิม 16 สถานี
มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 3,115 ล้านบาท จากเดิมประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ด้านปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น1,011 คนเที่ยวต่อวัน จากเดิมปีแรกของการเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นคนเที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ระยะทางที่เพิ่มขึ้นจะต่อเนื่องออกไปจากสถานีแยกแม่เหียะสมานสามัคคี ซึ่งยังคงอยู่ใน ต.แม่เหียะ เหมือนเดิม โดยเส้นทางนี้จะสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้ง 7 แห่งได้ ประกอบด้วย ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ น้ำตกห้วยแก้ว สวนสัตว์เชียงใหม่ เวียงกุมกาม วัดพระธาตุดอยคำ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ขณะที่การปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา จากสายสีเขียว เป็นสายสีส้มนั้น จากที่ รฟม. ประเมินเบื้องต้น โดยเทียบเคียงข้อมูลจากการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว พบว่า สายสีส้ม ช่วงโรงพยาบาลเทพรัตน์–สถานีร่วมจอหอ มีระยะทาง 25 กม. 20 สถานี วงเงินลงทุน 11,650 ล้านบาท และผู้โดยสาร 15,145 คนเที่ยวต่อวัน อย่างไรก็ตามเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น โดย รฟม. ต้องดำเนินการศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจน และครบถ้วน สำหรับโครงการเดิมสายสีเขียวจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ต้องรอผลการศึกษาสายสีส้ม และพิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครราชสีมา จากการประชุมรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อผลการเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ เมื่อปี 2565 พบว่า ทั้ง 2 โครงการเหมาะสมกับการใช้ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Rubber-Tyred Tram) โดยปัจจุบันทั้ง 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA (คชก.)