The Guardian สหราชอาณาจักร รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.พ. 68) ที่ผ่านมา อุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือพุ่งสูงถึง 20 องศาเซลเซียส ทะลุจุดเยือกแข็ง นั่นหมายความว่าน้ำแข็งบริเวณขั่วโลกอาจละลายเร็วขึ้น

รายงานจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เผยว่า ในช่วงวันเสาร์ (1 ก.พ. 68) บริเวณทางเหนือของหมู่เกาะสวาลบาร์ดในนอร์เวย์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ก่อนที่ในวันถัดมาอุณหภูมิจะพุ่งสูงถึง 20 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2534-2563 และยังเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดหลอมละลายของน้ำแข็ง

อากาศที่ร้อนผิดปกติในฤดูหนาว กำลังทำให้อาร์กติกเปลี่ยนไป

‘มิกะ แรนทันเนน’ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุตุนิยมวิทยาฟินแลนด์ อธิบายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นประมาณ 1.3 องศาเซลเซียสตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม ทว่าปัญหาคือ อาร์กติกกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก เนื่องจากการละลายของน้ำแข็งทะเล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ เมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสีเข้มจะดูดซับความร้อน ทำให้เกิดวงจรความร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ด้าน ‘จูเลียง นิโคลัส’ นักวิทยาศาสตร์จากโครงการ Copernicus Climate Change Service ของสหภาพยุโรป กล่าวเสริมว่า ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากระบบความกดอากาศต่ำที่รุนแรงเหนือไอซ์แลนด์ ซึ่งพัดพากระแสมวลอากาศอุ่นขึ้นไปทางขั้วโลก ไม่เพียงเท่านี้ อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือที่สูงขึ้นผิดปกติ ยังช่วยเสริมกำลังแรงของกระแสลมให้พัดเอาอากาศร้อนเข้าไปในอาร์กติกอีกด้วย

บางพื้นที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็ง

ข้อมูลจากการสำรวจของและวิเคราะห์ของนิโคลัส แสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือสูงกว่าปกติถึง 20 องศาเซลเซียส โดยบางพื้นที่ที่อยู่สูงถึงละติจูด 87 องศาเหนือ มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ทุ่นตรวจวัดหิมะในอาร์กติกยังยืนยันว่า อุณหภูมิที่วัดได้จริงในวันอาทิตย์อยู่ที่ 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่น้ำแข็งเริ่มละลายได้ แม้นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจะพยายามวิเคราะห์อุณหภูมิโลกจากข้อมูลมากมายจากดาวเทียม เครื่องบิน เรือ และสถานีตรวจอากาศทั่วโลก แต่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างอาร์กติกตอนกลาง ซึ่งมีจุดสังเกตการณ์โดยตรงค่อนข้างน้อย การจะระบุอุณหภูมิที่แน่ชัดจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม แรนทันเนนยืนยันว่าแบบจำลองสภาพอากาศทุกตัวที่เขาตรวจสอบ ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้อาจอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นระดับที่น่าตกใจ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดถี่ขึ้นในอนาคต

นับตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา อาร์กติกมีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 4 เท่า ซึ่งหมายความว่าปรากฏการณ์ความร้อนสูงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

‘เดิร์ก นอทซ์’ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก อธิบายว่า การที่อุณหภูมิสูงกว่าจุดเยือกแข็งนั้นเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นสัญญาณว่าน้ำแข็งกำลังละลายอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทางที่จะหยุดได้ตราบใดที่โลกยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้น

งานวิจัยของนอทซ์ในปี 2566 ระบุว่า แม้ในหลายประเทศทั่วโลกจะมีการเดินหน้าหรือรณรงค์เรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่น้ำแข็งในอาร์กติกก็ยังคงละลายอย่างต่อเนื่อง และอาจละลายจนหมดไปในช่วงฤดูร้อนในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

“เราคาดการณ์ว่าภายในสองทศวรรษข้างหน้า มหาสมุทรอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนอีกต่อไป ซ้ำร้าย นี่อาจเป็นพื้นที่แห่งแรกของโลกที่หายไปเพราะฝีมือของมนุษย์ และเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าตัวเราเองมีอิทธิพลอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” นอทซ์ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะพื้นที่ในอาร์กติกเท่านั้น แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เนื่องจากบริเวณขั้วโลกที่น้ำแข็งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของอุณหภูมิ หากน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าปกติ จะส่งผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นในอนาคต