จากท่าทีที่ฝ่ายต่างๆ แสดงออกมา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เดาไม่ยากว่าสุดท้ายจะต้องโดนถ่วงเวลาไว้ก่อนไม่รีบพิจารณา เพื่อความมั่นใจว่า ไม่ทำให้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังว่า กระบวนการไม่ชอบ และจะนำไปสู่การฟ้องผู้ยกมือรับรองต่อศาลอาญาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผิด ป.อาญา ม.157
ในการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1) จำนวน 2 ญัตติ ของพรรคประชาชน (ปชน.) และพรรคเพื่อไทย ก่อนการประชุม นพ.เปรมศักดิ์ เพียรยุระ สว. กลุ่ม สว.สีขาว ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลา 08.30 น. ได้ยื่นญัตติด่วน เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เรียบร้อยแล้ว มีผู้ร่วมลงชื่อทั้ง สส.และสว. กว่า 40 คน
“เห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2564 ระบุชัดเจนว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องทำประชามติก่อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะยังไม่ทำประชามติ จึงขอให้รัฐสภามีมติให้ไปทำประชามติก่อน ส่วนองค์กรที่จะชี้ขาดว่าจะทำ 2 หรือ 3 ครั้ง คือศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วก็จะต้องผูกพันทุกองค์กร การยื่นครั้งนี้ไม่ใช่เกมสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้ทำถูกตามขั้นตอน เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาภายหลัง”
เมื่อข้อถามว่า มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ เหมือนเป็นการแบ่งกลุ่มออกมาจาก สว.สีน้ำเงินหรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า มีแต่ สว.สีน้ำเงินที่มาก้าวล่วงพวกตน มีการบีบให้ สว.ถอนตัวจากญัตตินี้ และมีจำนวนหนึ่งที่ถอนตัว ซึ่งอาจจะเข้าใจถึงขั้นว่าลงชื่อประชุมก็มีความผิด ถือเป็นการให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง เพราะการลงชื่อเข้าประชุมและลงมติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาทุกคน ไม่ใช่ว่าลงมติแล้วจะถูกถอดถอน หรือมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ มี สส.ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 13 ก.พ. ร่วมลงชื่อรับรองด้วย อาทิ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม สส.นครพนม นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคกล้าธรรม อาทิ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เป็นต้น
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เห็นว่าเพื่อความมั่นใจและความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องประชามติให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน เสียงสนับสนุนจาก สว. ก็คงไม่ครบ และพรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วย
เมื่อเริ่มประชุม 09.39 น. พรรคภูมิใจไทยแจ้งต่อที่ประชุมไม่ร่วมการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่า อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ทำประชามติก่อนแก้ใหม่และมีผลให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ พร้อมวอล์กเอาต์จากที่ประชุม จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานในที่ประชุม ได้ถามที่ประชุมจะเอาญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ มาพิจารณาก่อนระเบียบวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญต้องหยุดการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
แต่เมื่อโหวต เสียงข้างมากเห็นชอบที่จะเลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาก่อน 247 เสียง ไม่เห็นด้วย 275 เสียง จึงอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ แต่ญัตติที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ ยังอยู่ในวาระและจะพิจารณาต่อจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อมา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงษ์ สว. แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอออกจากที่ประชุม เพราะการพิจารณานั้นไม่ชอบ โดยมี สว.บางส่วนได้ลุกวอล์กเอาต์ด้วย
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้ลงมาแถลงข่าว “เลขาฯ นก” ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวพยายามจะดึงพรรคภูมิใจไทยไปเป็นพรรคที่อยู่ในกลุ่มไม่ร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำความเข้าใจว่า เราเห็นด้วยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องชอบธรรมและไม่สร้างปัญหาในอนาคต ถ้าย้อนกลับไปพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคแรกที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ด้วยซ้ำ
“อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า หากมีการพยายามที่จะให้โหวต วาระ 1 ให้ได้ ตนจะเสนอทางพรรคว่า พรรคควรแสดงตน แต่จะไม่ประสงค์ลงมติ เพื่อสะท้อนว่าเราก็ยังสงสัยว่า การแก้ไขชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ต่อมา ที่ประชุมได้นับองค์ประชุมโดยการเสียบบัตรแสดงตน ผลคือ มีผู้เข้าร่วมประชุม 204 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุมต้องปิดการประชุม ขอนัดประชุมใหม่ในวันที่ 14 ก.พ.
พรรค ปชน.นำโดย “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แถลงข่าว ยืนยันรัฐสภามีอำนาจเต็ม ในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ได้ในทันที อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับวินิจฉัยในเรื่องของข้อสงสัย จะวินิจฉัยในเรื่องของการทำหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดผลขึ้นแล้ว ได้รับข้อมูลมาเพิ่มเติมมาว่า ในวันที่ 14 ก.พ. จะมีการขอให้ลงชื่อเข้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
“อยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้ทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ช่วยกำกับดูแล ในส่วนของเสียงฝั่งรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมรัฐสภา เห็นด้วยหรือการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 อย่างไร ควรจะต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสภาก่อน แล้วค่อยตัดสินใจลงมติ ไม่ใช่เซ็นเซอร์อำนาจตัวเอง”
หัวหน้าเท้ง กล่าวว่า ด่านที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 256 ร่างของพรรคเพื่อไทยและร่างของพรรค ปชน.มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ยังสามารถไปพูดคุยกันได้ในวาระที่ 2 เรื่องที่มีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนไม่เห็นกับการแตะหมวด 1 และ 2 ยังไม่เป็นสาระสำคัญในช่วงการลงมติของวาระที่ 1 และเรื่องการลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา
นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จตามนโยบาย ไม่ใช่แค่ได้แก้ และแก้ให้ได้มุ่งต่อความสำเร็จ จากการประเมินเมื่อวันที่ 12 ก.พ. พบว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านสภานั้นแทบไม่มี เราจึงแสวงหาอีกวิธีหนึ่งที่พอจะมีความหวังคือขอให้ร่างได้อยู่ในสภายังไม่ตก คือเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ระหว่างที่รัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัย ร่างก็ยังอยู่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา เราก็มีโอกาสสำเร็จ เราก็จะเดินหน้า
“สมาชิกรัฐสภาก็เกิดความกังวลว่าพิจารณาและลงมติจะถูกศาลตัดสินหรือดำเนินคดีหรือไม่ เพราะมีตัวอย่าง ต้องยอมรับว่ามีสมาชิกจำนวนไม่น้อยไม่มั่นใจในสถานะ หากอยู่ประชุมทางที่ดีคือยื่นศาลให้ตีความ เชื่อว่าไม่เกิน 1 เดือน วันนี้เราจึงสนับสนุนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ไม่แน่ใจว่าการประชุมวันที่ 14 ก.พ.จะล่มอีกหรือไม่”
“บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวว่า แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่กฎหมายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยและพรรค ปชน.เสนอ จึงเป็นเรื่องของสภา หากพรรคภูมิใจไทยไม่เดินตามนี้ ก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ ใครตัดสินใจอะไรก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากเป็นกฎหมายที่ ครม.ยื่น ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราตรงไปตรงมา เพราะเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้พรรคร่วมฯ พิจารณา และแถลงต่อรัฐสภา
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องปฏิรูปกองทัพ ซึ่งบิ๊กอ้วนยืนยันว่า มีกระบวนการลดกำลังพลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในปี 2570 จะมีตัวเลขที่ชัดเจน ขณะนี้กระบวนการได้เริ่มต้นแล้ว หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ก็พร้อมชี้แจง แต่ไม่ต้องการชี้แจงรายวัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องตีปิงปองโต้กันไปมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแผนการปรับลดนายพลระดับสูง การดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 2568-2570 คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 732 นาย เฉลี่ยปีละ 244 นาย และคาดว่า จะใช้งบประมาณ 3 ปี รวม 600 ล้านบาท หรือปีละ 200 ล้านบาท โดยไม่ต้องของบประมาณกลางเพิ่มเติม.
“ทีมข่าวการเมือง”