เมื่อรัฐบาล เดินหน้ายกระดับ เร่งกวาดล้าง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
หนึ่งในมาตรการเชิงรุกที่นำมาใช้ คือ การ “ตัดไฟฟ้า-สัญญาณมือถือ-สัญญาณอินเทอร์เน็ต” หลังจากที่ตรวจพบมีการลักลอบใช้จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลผู้ใช้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!!
ต้อง “เทค แอ๊คชั่น” หลังจากสังคมมีคำถามว่า “จะตัดเน็ตกี่โมง?” พาคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเสาสัญญาณบริเวณตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ตลอดในช่วงตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา
“สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธาน กสทช. บอกว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสัญญาณมือถือบริเวณชายแดน ที่มีข้อมูลว่ามีการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ข้ามไปยังเพื่อนบ้าน และการลากสายไฟเบอร์ออฟติกข้ามแดนไปโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงได้ดำเนินการถอนเสาสัญญาณมือถือที่มีการหันออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และตัดสายไฟเบอร์ออฟติกของอินเทอร์เน็ตที่ผิกฎหมาย บริเวณชายแดนเมียนมา ลาว และกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

“ในกรณีบริเวณชานแดนเมียนมา เมื่อได้รับการประสานจาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ได้ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จำนวน 20 ราย ดำเนินการตัดสัญญาณตามที่ สมช.แจ้งแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ให้บริการที่มีการลากสายสัญญาณข้ามไปยังเพื่อนบ้านแม้จะได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องก็สั่งให้ตรวจสอบว่ามีการนำไปให้บริการต่อกับพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่ หากมีให้เอกชนตัดสัญญาณหยุดให้บริการทันที”
อย่างไรก็ตาม ทาง “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาค ก็ได้ลงพื้นที่ ติดตามการปรับเสาส่งสัญญาณมือถือ ตัดสายและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ถูกลอบใช้บริเวณแนวชายแดน ทั้งฝั่งเมียนมา และ กัมพูชา ที่ว่ากันว่า เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พร้อมออก มาตรการ “เสา-สาย-ซิม” คุมเข้มเพิ่มเติม และสั่งการให้ผู้ให้บริการมือถือทุกรายปฏิบัติอย่างเข้มข้น ประกอบด้วย
มาตรการตั้งเสาบริเวณชายแดน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก กรณีผู้ให้บริการตั้งเสาติดเขตแดนไม่เกิน 50 เมตร ให้ผู้ประกอบการรื้อถอนสายอากาศ ยกเว้นกรณีชุมชน ให้ติดตั้งระดับความสูงของสายอากาศไม่เกิน 10 เมตร หรือติดตั้งเสาอากาศขนาดเล็ก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ยังมีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตใช้บริการ
กลุ่มสอง การตั้งเสาระยะไม่เกิน 1,000 เมตร นับจากเส้นแบ่งเขตแดน ให้ลดกำลังส่งและปรับลดระดับความสูงของสายอากาศไม่เกิน 15 เมตร และ กลุ่มสาม กรณีตั้งเสาระยะไม่เกิน 3,500 เมตร นับจากเส้นแบ่งเขตแดน ให้ตั้งเสาอากาศความสูงไม่เกิน 30 เมตร
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ประกอบการจะขอติดตั้งเสาในเขตพื้นที่ติดชายแดน สำนักงาน กสทช.จะไม่อนุญาต ยกเว้นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่ในเขตชุมชนมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก จะให้ตั้งเสาระยะความสูงไม่เกิน 10 เมตร มาตรการทั้งหมดเพื่อไม่ให้สัญญาณมือถือที่ล้นออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากตรวจพบมีการลักลอบติดสายอากาศ สำนักงาน กสทช. จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

มาตรการคุมเข้มสาย สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตรวจสอบสายสื่อสารตามจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อค้นหาการลักลอบลากสายสื่อสาร พร้อมทั้งสั่งการผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดฉลาก (Tag) ของบริษัทบนท่อร้อยสายเคเบิล หรือบนสายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อระบุความเป็นเจ้าของสายสื่อสารของผู้ให้บริการ ตรวจสอบการลักลอบลากสายสื่อสารข้ามแดน หากพบว่ามีสายสื่อสารที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้จะมีการตัดสาย และดำเนินการคดีตามกฎหมายทันที
มาตรการซิม อยู่ระหว่างการพิจารณาจะไม่ให้ลูกตู้ลงทะเบียนซิม โดยให้ลงทะเบียนซิมที่ศูนย์บริการเท่านั้น แต่กรณีนี้อาจส่งผลกระทบประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกล ที่ต้องเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อลงทะเบียนซิม
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังได้ออกหนังสือถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกราย ให้ดำเนินการตรวจสอบ และระงับการใช้งาน IP Address ของมิจฉาชีพ เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูล IP Address ที่มิจฉาชีพใช้งาน Mobile Banking ทำธุรกรรมทางการเงิน และ IP Address ของเครื่องแม่ข่ายที่มิจฉาชีพใช้โอนเงินผ่านธนาคารให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน
2. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ส่งข้อมูล IP Address ของมิจฉาชีพให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) ในประเทศ ประกอบด้วย IP Address, เวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูล (Timestamp), IP Address ปลายทางของเครื่องแม่ข่ายที่มิจฉาชีพใช้โอนเงินผ่านธนาคาร, เลขหมายคดี (Case ID) ที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อมูล URL ของมิจฉาชีพ ให้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อดำเนินการต่อไป

3. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการใช้งาน IP Address ของมิจฉาชีพชั่วคราวเพื่อระงับความเสียหาย พร้อมทั้งตรวจสอบและจัดทำข้อมูลผู้ใช้งาน IP Address ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้องขอ ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการ สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการทางปกครองต่อไป
และในช่วง 3 เดือนจากนี้ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และภาค/เขต ในพื้นที่ต่างๆ จะลงพื้นที่ตรวจสอบเสาสัญญาณบริเวณตามแนวชายแดนทั่วประเทศอย่างเข้มข้น
ทั้งหมด เพื่อร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ กวาดล้างปัญหาคอลเซ็นเตอร์ให้ลดน้อยลง!?!
จิราวัฒน์ จารุพันธ์