เวลาผมร่วงหลายๆคนก็กลุ่มใจไม่น้อย วันนี้ “เดลินิวส์” นำบทความของ ศูนย์ความงาม โรงพยาบาลพญาไท 2 บอกกล่าว ว่า เมื่อเริ่มพบความผิดปกติว่ามีผมร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ หลายคนคงจะเสียความมั่นใจและเริ่มหาตัวช่วยมาแก้ปัญหา เพื่อให้เส้นผมกลับมาดกดำเหมือนเดิม ท่ามกลางข้อมูลเกี่ยวกับ “การปลูกผม” ที่กระจายอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่พบนั้นเชื่อถือได้ จึงอยากชวนมาหาคำตอบ ว่า เรื่องไหนจริง เรื่องไหนหลอกกันแน่!

ผมร่วง เกิดจากกรรมพันธุ์จริงหรือ?

จริง! กรรมพันธุ์ หรือ พันธุกรรม คือ สาเหตุอันดับ 1 ของผมร่วง ใครที่ครอบครัวมีประวัติผมร่วง ควรระวังไว้ว่าอาจได้รับการถ่ายทอดยีนแฝงจากพ่อและแม่ รวมถึงเป็นไปได้ว่าปู่ ย่า ตา ยายอาจถ่ายทอดกรรมพันธุ์มายังรุ่นหลานได้ ทั้งนี้ ผมร่วงจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมถือว่าเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด

นอกจากนี้ สาเหตุของผมร่วงยังเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ความเครียด การติดเชื้อบนหนังศีรษะ เชื้อราบนหนังศีรษะ รังแค โรคไทรอยด์ โรคซิฟิลิส โรคมะเร็ง โรคเซ็บเดิร์ม แพ้ยา การทานยารักษาสิว เป็นต้น

Woman getting a hair loss treatment at a clinic

ใช้สารเคมีย้อมผม ทำสีผม หรือจัดแต่งทรงผม ทำให้ผมร่วงได้จริงหรือ?

ไม่จริง! การใช้สารเคมีจัดแต่งทรงผมที่ได้รับมาตรฐาน อย. จะไม่ทำให้เกิดอาการผมร่วง หรือมีอาการผมร่วงน้อยมาก ในทางกลับกันถ้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านอย. หรือใช้สารเคมีย้อมผม กัดสีในปริมาณมาก อาจทำให้เส้นผมอ่อนแอ และขาดได้ง่าย

สวมหมวกตลอดเวลา ทำให้ผมร่วงจริงหรือ?

ไม่จริง! เราอาจคุ้นเคยกับภาพคนผมร่วงหรือศีรษะล้านที่มักสวมหมวกเป็นประจำ จริงๆ แล้วการสวมหมวกไม่มีส่วนทำให้ผมร่วง เว้นแต่ว่าจะสวมตลอดเวลาจนเกิดเชื้อรา นอกจากนี้ การถักเปียแน่นๆ หรือสวมวิกผมนานเกินไปก็ทำให้ผมขาดร่วงได้เช่นกัน

หวีผมวันละ 100 ครั้ง ช่วยให้ผมสวยและแข็งแรงจริงหรือ?

ไม่จริง! การหวีผม 100 ครั้งต่อวัน อาจทำให้ผมร่วง ผมแห้ง หรือผมแตกปลายได้ เพราะเส้นผมของเราจะถูกเสียดสีมากขึ้น เปรียบเหมือนการทำร้ายเส้นผมทางหนึ่ง การหวีผมที่ดีควรหวีอย่างเบามือ ไม่กระชากผม และค่อยๆ หวีจนทั่วศีรษะ

สระผมบ่อยทำให้ผมร่วงจริงหรือ?

ไม่จริง! โดยทั่วไปควรสระผมวันละ 1 ครั้ง บางคนเข้าใจว่า สระผมบ่อยๆ ทำให้ผมร่วงมากกว่าปกติ แต่ในความจริง มักทำให้หนังศีรษะแห้ง และเป็นสาเหตุของรังแค ส่วนคนที่ไม่กล้าสระผม เพราะกลัวผมร่วง หากไม่ได้สระผมนานเข้าอาจทำให้ผมร่วงถึง 200 เส้น มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 100 เส้นต่อวันได้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

Woman worried about tangled hair

ชอบดึงผมตัวเอง ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมหรือไม่?

จริง! ให้ลองสังเกตว่าตัวเองชอบดึงผมซ้ำๆ หรือดึงผมตลอดวันหรือไม่ หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ อาจทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมได้ คนที่ชอบดึงผมตัวเองเป็นประจำอาจเกิดจากภาวะความเครียดที่เพิ่มขึ้นจนกระทบจิตใจ และมีอาการทางจิตเวชโดยไม่รู้ตัว “โรคดึงผม” เป็นหนึ่งในอาการที่ต้องได้รับการรักษา มีทั้งแบบทำโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือเป็นโรคซึมเศร้า

ยาคุมกำเนิดทำให้ผมร่วงได้จริงหรือ?

จริง! แต่ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดไม่ใช่สาเหตุหลัก ความจริงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินที่กระตุ้นให้ผมร่วง ทั้งนี้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับยาคุมกำเนิดแต่ละยี่ห้อ หรือพบภาวะผมร่วงได้ในช่วงแรกที่มีการเปลี่ยนยี่ห้อ  หากรู้สึกผมร่วงมากกว่าปกติ ให้หยุดใช้ยา 2-3 เดือน อาการผมร่วงจะดีขึ้น

ผมร่วงเพราะขาดวิตามินจริงหรือ?

จริง! วิตามินหลักที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อเสริมสร้างเส้นผมให้แข็งแรง คือ Biotin หรือ วิตามิน H พบได้ในอาหารประเภทตับ ไข่แดง ถั่วเหลือง นม เนยถั่ว เป็นต้น ในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมไม่แข็งแรง ผมบาง สีผมเปลี่ยนไป และผมร่วงได้ง่าย ทั้งนี้ การทานวิตามินไม่ได้ช่วยสร้างเส้นผมได้ 100% แต่จะเน้นไปที่การบำรุงรากผมให้แข็งแรงขึ้นและบรรเทาอาการผมร่วง

Closeup portrait of woman hands holding dry damaged hair eds, having trichology problem.

แชมพูที่ใช้มีผลต่อผมร่วงจริงหรือ?

จริง! การเลือกแชมพูให้เหมาะกับสภาพเส้นผมของตัวเองมีส่วนสำคัญต่อการหลุดร่วงของเส้นผม ช่วงหน้าร้อนควรเลือกแชมพูลดความมัน หรือเลือกใช้แชมพูผสมยาฆ่าเชื้อรา สำหรับคนผมแห้ง ควรเลือกแชมพูที่เน้นเพิ่มความชุ่มชื้น แชมพูที่ช่วยลดการหลุดร่วงของเส้นผมมักเน้นการบำรุงเส้นผม ปรับสมดุลหนังศีรษะ เพื่อลดปัญหาผมร่วง การใช้แชมพูยาสำหรับผู้ที่มีปัญหาเส้นผม หากอาการดีขึ้นให้ค่อยๆ ลดความสม่ำเสมอในการใช้แชมพูยา และใช้ครีมนวดเน้นส่วนปลายผม

ใช้หวีเลเซอร์ ช่วยให้ผมกลับมาดกดำเหมือนเดิมได้จริงหรือ?

จริง! Laser Comb หรือ หวีเลเซอร์ เป็นการรักษาผมร่วงผมบางด้วยเลเซอร์พลังงานต่ำ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์รากผม ทำให้เกิดเส้นผมใหม่ ช่วยแก้ปัญหาอาการผมบาง ผมร่วงจากพันธุกรรมได้ ถือเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัย และมักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ.