นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ติดตามแผนการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช–เมืองทองธานี โดยได้รับรายงานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า ภาพรวมความก้าวหน้างานโดยรวม มีความคืบหน้าประมาณ 85.97% เร็วกว่าแผน 2.17% โดยงานโยธา มีความคืบหน้า 87.88% และงานระบบรถไฟฟ้า มีความคืบหน้า 82.22% ซึ่งตามแผนงานคาดว่าช่วงต้นเดือน เม.ย. 68 จะเริ่มทดสอบการเคลื่อนที่ขบวนรถไปบนราง และทดสอบการทำงานอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันทั้งระบบรถไฟฟ้า

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากนั้นประมาณปลายเดือน พ.ค. 68 จะเริ่มทำการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) แบบไม่มีผู้โดยสาร ประมาณ 1 เดือน โดยได้กำชับให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสูงสุด ก่อนจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ (Trial Run with Passenger) โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน มิ.ย. 68 หรือประมาณปลายเดือน มิ.ย. 68 เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน และจะเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบแบบเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 68 ในอัตรา 15-22 บาท ซึ่งจะเป็นทางเลือกช่วยเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางเข้าออกเมืองทองธานี และยังช่วยลดปริมาณจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะ ตลอดลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเขตเมืองด้วย

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้างประมาณ 4 พันล้านบาท มี 2 สถานี สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี (MT02) เป็นทางวิ่งยกระดับ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางบนถนนแจ้งวัฒนะ โดยแยกออกจากเส้นทางสายหลักที่สถานีเมืองทองธานี (PK 10) ของรถไฟฟ้าสายหลักสีชมพู เพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ที่ตั้งของสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยเป็นที่ตั้งของสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม

ผู้โดยสารที่นั่งรถไฟฟ้าสีชมพูสายหลัก สามารถลงสถานีเมืองทองธานี เพื่อเปลี่ยนขบวนรถสายสีชมพูส่วนต่อขยายได้เลยแบบไม่ต้องออกจากสถานี ซึ่งที่สถานีเมืองทองธานี มี 3 ชานชาลา แบ่งเป็น ชานชาลาที่ 1 สำหรับรถไฟที่มุ่งหน้าไปยังเส้นทางส่วนหลัก สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ชานชาลาที่ 2 สำหรับรถไฟที่มุ่งหน้าไปยังเส้นทางส่วนหลัก สถานีมีนบุรี (PK30) และชานชาลาที่ 3 สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยาย ไปยังสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี

ในส่วนของสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) สามารถเชื่อมต่อไปยังมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ทางออกที่ 1), โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร (ทางออกที่ 2), อิมแพ็ค เมืองทองธานี (ทางออกที่ 3) และซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 (ทางออกที่ 4) ขณะที่สถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี (MT02) สามารถเชื่อมต่อไปยังทะเลสาบ เมืองทองธานี (ทางออกที่ 1), ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 (ทางออกที่ 2), สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ (ทางออกที่ 3) และอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ทางออกที่ 4)

คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารประมาณ 13,785 คน/เที่ยว/วัน สำหรับค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ว่า หากนั่งสายสีชมพู ส่วนหลัก และรวมกับส่วนต่อขยาย จะเก็บเริ่มต้น 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 45 บาท หากนั่งเฉพาะส่วนต่อขยาย ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-22 บาท แต่หากถึงเดือน ก.ย. 68 ที่จะใช้มาตรการรถไฟฟ้าทุกสายสูงสุดไม่เกิน 20 บาท การเดินทางของสายสีชมพู ทั้งส่วนหลัก รวมกับส่วนต่อขยาย จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ปัจจุบันผู้โดยสารสายสีชมพู อยู่ที่ประมาณวันละ 36,524 คน.