“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานประกอบด้วยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องขออนุมัติโครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) 1,520 คัน ระยะเวลาเช่า 7 ปี วงเงิน 15,355.60 ล้านบาท ใช้งบประมาณปี 2568-2575 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เรียบร้อยแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมขอให้เสนอความเห็นเพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
ในส่วนของ สศช. ให้ความเห็นชอบโครงการฯ โดยระบุว่า เพื่อทดแทนรถโดยสารธรรมดาของ ขสมก. ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดภาระค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงรักษาของ ขสมก. ภายใต้แผนขับเคลื่อนกิจการฯ ของ ขสมก. (ฉบับปี 2566) ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้บริการของ ขสมก. และสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะเพิ่มขึ้น รวมทั้งลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ ขสมก. ต้องกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้เช่าให้เกิดความชัดเจน อาทิ จำนวน สภาพรถโดยสาร สถานีอัดประจุไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องพร้อมใช้งานตลอดอายุสัญญา รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องทดแทนกรณีเกิดอุบัติเหตุ และขอบเขตภาระค่าใช้จ่ายและกรอบระยะเวลาที่ใช้รื้อถอนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดสัญญา เป็นต้น
สำหรับกระทรวงการคลัง ไม่ขัดข้องโดยมีความเห็นเพิ่มเติม อาทิ กระทรงคมนาคมควรกำกับให้ ขสมก. มีขั้นตอนและแผนงานโครงการที่ชัดเจนเพื่อให้ดำเนินงานได้ตามแผน โครงการมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 77.23% เนื่องจากประมาณการผู้โดยสารสูง มีค่าใช้จ่ายส่วนของต้นทุนการจัดหารถค่อนข้างต่ำและไม่มีเงินลงทุนครั้งแรก ซึ่งเป็นการประมาณการผู้โดยสารที่สูงกว่าผู้โดยสารโดยเฉลี่ยที่ให้บริการในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมควรกำหนดให้ ขสมก. จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ขสมก. ประสบปัญหาขาดทุนควรปรับปรุงแผนขับเคลื่อนกิจการให้ได้รับความเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อให้ ขสมก. มีเป้าหมายในการให้บริการสาธารณะมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต เป็นต้น
ส่วนสำนักงบประมาณเห็นสมควรที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. มีข้อสังเกต อาทิ ขสมก. ควรพิจารณากำหนดบทบาทหน่วยงานให้ชัดเจน โดยพิจารณาประเด็นการแข่งขันกับเอกชนซึ่งให้บริการเดินรถเช่นเดียวกับ ขสมก. และพิจารณาอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสมและคำถึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการ
เนื่องจากประมาณการรายได้และกำไรโครงการอาจไม่เป็นไปตามผลการศึกษา ควรดำเนินตามมาตรการรับมือความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการและประชาชน เร่งรัดนำเสนอแผนขับเคลื่อนกิจการตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการ หากโครงการมีรายได้เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายคงเหลือควรนำเงินมาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระทางการเงินการคลังและลดการพึ่งพิงจากภาครับอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ทั้งนี้ ขสมก.จะนำโครงการฯ เสนอคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ขสมก. พิจาณาในวันที่ 27 ก.พ. 2568 หากได้รับความเห็นชอบ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอ ครม. เห็นชอบและเปิดประกวดราคา (ประมูล) ต่อไป คาดว่าจะรับมอบรถ 500 คันแรก ประมาณปลายปีนี้ และส่งมอบครบทั้งหมดภายในปี 2569