เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย เขต 1 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร (ปธ.กมธ.ปปง.ฯ) เปิดเผยว่า ตามที่คณะ กมธ.ปปง.ฯ ได้ประชุมฯ ครั้งที่ 49 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา เพื่อร่วมพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ นั้น ได้สรุปสาระสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้เชิญชวนประชาชนร่วมลงทุน แต่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น เกิดความเสียหาย 5 พันราย มูลค่าความเสียหายจำนวนกว่า 2 พันล้านบาท

นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นการร้องเรียนกรณีบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนกลุ่มผู้เสียหาย เข้าร่วมประชุม

สรุปสาระสำคัญได้ ได้ว่า “ผู้เสียหาย ได้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทดังกล่าว ซึ่งประกอบธุรกิจด้านกิจกรรมการโทรคมนาคม จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการเติมเงิน ค่าโทรศัพท์ค่ายหนึ่ง ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 1 จากสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ปี 2562 และประกอบธุรกิจตู้เติมเงิน มีการชักชวนให้ผู้เสียหายและประชาชนมาลงทุน อ้างว่ามีการจ่ายผลตอบแทนเป็นรายวัน และจ่ายผลตอบแทนกลับคืนให้ร้อยละ 300 ของจำนวนเงินที่ลงทุน โดยอ้างถึงบริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน

ทั้งนี้ ปรากฏภาพนักการเมือง ศิลปิน ดารา เป็นสื่อเชิญชวน ซึ่งมีความเชื่อถือ ให้ผู้สนใจกล้าตัดสินใจร่วมลงทุน มีการอบรมสมาชิกตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2567 ผู้เสียหายเริ่มไม่ได้รับผลตอบแทน และได้รับประกาศแจ้งเลื่อนจ่ายเงินผลตอบแทนมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียหายประมาณ 5 พันคน มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 2 พันล้านบาท โดยผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจในพื้นที่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแล้ว

ด้านผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นว่า สำนักงานฯมีภารกิจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว ในวาระเริ่มแรกบริษัทดังกล่าวมีการขออนุญาตจดทะเบียนตลาดแบบตรงในการขายน้ำดื่ม ปี พ.ศ. 2565 ได้ยื่นขอเพิ่มผลิตภัณฑ์สินค้าเพิ่มเติม เช่น เสื้อผ้า อาหาร เป็นต้น และต่อมาสำนักงานฯ ได้เชิญบริษัทดังกล่าว มาสอบถามข้อเท็จจริงพบว่าบริษัท มิได้ประกอบธุรกิจตรงตามที่จดทะเบียนไว้แล้ว จึงได้ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่) มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจจะยังมีข้อบกพร่องเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

ขณะที่ผู้แทนสำนักงาน กสทช. ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การดำเนินการบริษัทดังกล่าว ซึ่งประกอบธุรกิจด้านกิจกรรมการโทรคมนาคม จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการเติมเงิน ค่าโทรศัพท์ค่ายหนึ่ง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 1 จาก สำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ปี 2562 ส่วนการประกอบธุรกิจตู้เติมเงิน ไม่ใช่บริการภายใต้การอนุญาตของ สำนักงาน กสทช. โดยสำนักงาน กสทช. ได้มีการประชาสัมพันธ์ไม่ให้ประชาชนร่วมลงทุนกับบริษัทดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาได้ โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นับจากวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากกลุ่มผู้เสียหาย ขณะนี้มีประมาณ 61 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 21 ล้านบาท โดยเฉลี่ยเสียหายรายละประมาณ 40,000 – 200,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานนีตำรวจใกล้บ้านได้

ที่ประชุมได้รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาสรุปในเบื้องต้น ประกอบด้วย (1) เสนอแนะให้กลุ่มผู้เสียหายรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้เลขาธิการ ปปง.พิจารณา เพื่อดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดไว้ชั่วคราวได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, (2) เสนอให้สำนักงาน กสทช.พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ในกรณีที่ บริษัทดังกล่าว ใช้เครื่องหมาย ตรา สัญลักษณ์ ของราชการไปแอบอ้าง สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ถูกหลอกลวง ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายกับ สำนักงาน กสทช.และ (3) เสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและผู้เสียหาย เพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิดโดยเร็ว และประสานงานกับสำนักงาน ปปง. ในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542, พ.ศ. 2544

แต่ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงมีมติให้พิจารณาอีกครั้งในคราวประชุมครั้งถัดไป (ครั้งที่ 50) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัทเอกชน ที่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (พิจารณาต่อเนื่อง) โดยเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้เสียหาย เข้าร่วมประชุม