“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า บริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ผู้รับจ้างขนย้ายขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย ได้จัดทำแผนงานการถอดแคร่ (โบกี้) ออกจากตัวรถ kiha 40/48 ทั้ง 20 คัน ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังแล้วเพื่อเสนอคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณา

โดยจะใช้เวลาทำงาน 4 วัน ประกอบด้วยการตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมือ และอุปกรณ์การทำงาน เริ่มถอดอุปกรณ์ และจุดเชื่อมต่อต่างๆ ระหว่างโบกี้ออกจากตัวรถ ตามขั้นตอนที่ได้รับการฝึกอบรมจากผู้ควบคุมงาน จากนั้นยกรถขึ้นเพื่อนำโบกี้ออกมา และใช้อุปกรณ์รองตัวรถไว้แทนโบกี้ รวมทั้งยกโบกี้ขึ้นขบวนรถไฟบรรทุกยานขนาดหนัก (บขน.) พร้อมรัดตึง เพื่อนำไปปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร เป็น 1 เมตรที่โรงงานมักกะสัน โดย รฟท. ในส่วนของอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ของแต่ละคันที่ถอดออกจะจัดเก็บใส่กล่อง และนำขึ้นไปเก็บไว้บนรถแต่ละคัน โดยทำบันทึกรายการไว้ทั้งหมด

เบื้องต้นการปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อ รฟท. จะใช้เวลาประมาณ 25 วัน เมื่อแล้วเสร็จ เอกชนต้องนำโบกี้กลับมาประกอบเข้ากับตัวรถ ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ก่อนนำกลับโรงงานมักกะสันทางรางรถไฟ และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงขบวนรถคาดว่าคันแรกจะแล้วเสร็จ และทยอยนำมาให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2568 รฟท. ยังไม่ได้แจ้งบริษัท กรีน เจเนอเรชั่นฯ ส่งแผนงานให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุพิจารณา

คาดว่าต้องรอแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมงานให้แล้วเสร็จก่อน ตามข้อสังเกตของประธานกรรมการตรวจรับฯ ที่ผู้ว่า รฟท. เพิ่งแต่งตั้งใหม่ กำลังเร่งหารือด้านข้อกฎหมายว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ จะทำได้ หรือขัดกับขอบเขตงาน(TOR) หรือไม่ หากได้ จะเสนอผู้ว่า รฟท. ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมงาน เพื่อควบคุมการถอดโบกี้ออกจากตัวรถต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
ด้านบริษัท กรีน เจเนอเรชั่นฯ ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า แม้จะตั้งหรือไม่ตั้งคณะกรรมการควบคุมงาน ก็ไม่มีผลต่อการทำงาน เพราะบริษัทฯ ทำหน้าที่ถอดโบกี้ออกจากตัวรถอย่างเดียว ที่ผ่านมาได้ส่งวิศวกรไปอบรมวิธีการถอดแยกตัวรถ และโบกี้กับ JR EAST ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วบริษัทฯ พร้อมทำงาน เพื่อส่งมอบงานงวดสุดท้าย ขณะนี้สิ้นสุดสัญญาแล้ว หากมีค่าปรับเกิดขึ้น บริษัทฯ พร้อมต่อสู้ และมั่นใจว่าสู้ได้
สำหรับขบวนรถทั้งหมดนี้ ได้รับมอบจาก JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่น รฟท. ว่าจ้างบริษัท กรีนเจเนอเรชั่นฯ 48.6 ล้านบาท ขนย้ายมาจากท่าเรือนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น และถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 67 เกือบ 9 เดือนแล้ว ที่ยังจอดทิ้งตากแดดตากฝุ่นอยู่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง เนื่องจากปัญหาระหว่างผู้ขนย้ายกับการรถไฟฯ
แม้ล่าสุดนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟฯ จะให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนมารับตำแหน่ง แต่ได้เร่งตรวจสอบและหาทางออก ล่าสุดได้แต่งตั้งประธานพิจารณาตรวจรับแล้ว แต่ต้องใช้เวลาตรวจสอบรายละเอียดให้รอบคอบ