เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายปรีชา ลิ้มถวิล รองเลขาธิการ ส.ป.ก. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ พล.ต.ประพนธ์ กิติญาณทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา กรณีการบุกรุกที่ดินโดยรอบขอบอ่างคิรีธาร และเกาะร้อยไร่ รวมถึงเกาะอื่นๆ ในเขื่อนคิรีธาร

โดยทางด้านกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้กล่าวถึงที่มาของการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำคิรีธาร ได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้จำนวน 6,632 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าตกพรม 5,798 ไร่ และป่าปัถวี 834 ไร่ ที่ผ่านมาพบการบุกรุกทำกินของชาวบ้านตลอดแนวขอบอ่างที่อยู่ในเขตพื้นที่ ที่กรมพลังงานทดแทนกันไว้เป็นพื้นที่เขตน้ำท่วมถึง

จากนั้น ในปี พ.ศ. 2558 ได้เริ่มดำเนินการปักป้ายแจ้งเตือน ห้ามบุกรุกเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวน และแจ้งความเอาผิดกับราษฎรจำนวน 15 ราย ขณะที่กรณีพื้นที่ป่าร้อยไร่ที่พบการบุกรุกแผ้วทาง ปลูกทุเรียน และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ รวมถึงการทำถนนดินลูกรัง ข้ามไปยังเกาะนั้น นายกรรชัย มีกระโดน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสะพานหิน หมู่ 3 ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี เปิดเผยถึงห้วงระยะเวลาในการก่อสร้างถนนเส้นดังกล่าว ไม่แน่ชัด อยู่ราวปี 2566 โดยสอบถามจากชาวบ้าน เป็นการลงขันเงิน เพื่อทำทางเข้าไปยังพื้นที่เกาะ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. และทำในช่วงฤดูที่น้ำแล้ง ขณะที่ทางกรมพลังงานทดแทนที่รับผิดชอบพื้นที่ ยอมรับว่า ไม่สามารถระบุช่วงเวลาการบุกรุกและทำถนนได้ ทางด้านตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวขอความเห็นใจจากที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฯ ว่าชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกส่วนใหญ่กู้หนี้ยืมสินมาทำกินไม่มีเจตนาบุกรุกป่าสงวน โดยพร้อมที่จะเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรื้อถนนออกทั้งหมดโดยกำหนดกรอบเวลาระยะเวลาภายใน 30 วัน ในส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้ที่ออกมาแสดงตนว่าเป็นเจ้าของแปลงที่ดินในพื้นที่เกาะ 100 ไร่ จำนวน 23 ราย จะเข้าไปพบพนักงานสอบสวนและแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะคืนพื้นที่

ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณเกาะ 100 ไร่ที่ชาวบ้านปลูกทุเรียน อายุประมาณ 1-4 ปี รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ขณะที่ นายบรรรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ยืนยันว่าพื้นที่รอบขอบอ่าง มีทั้งที่แปลง ที่ ส.ป.ก.ได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้แล้ว และบางส่วนยังอยู่ในพื้นที่ที่กรมพลังงานทดแทนขอใช้เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง บริเวณที่กำหนด จึงมีความสำคัญด้านวิศวกรรมโครงสร้างอ่างเก็บน้ำ จึงขอชี้แจงให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขอบอ่างที่ยังไม่ได้มีเอกสารสิทธิขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออก เพราะเสี่ยงกับช่วงฤดูน้ำหลาก และในส่วนพื้นที่ด้านในอ่างคิรีธารซึ่งเป็นเกาะจำนวนหลายเกาะด้วยกันยังคงสถานะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าตกพรม และป่าปัถวี

โดยทางด้านที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฯ ระบุว่า จะยังมีการแจ้งความดำเนินคดีจากกรมป่าไม้ แต่หากเลยกำหนดระยะเวลา 30 วันแล้วก็จำเป็นต้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

นายปรีชา ลิ้มถวิล รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ณ ปัจจุบันจะยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ในระหว่างกรณีพิพาท แต่สำหรับชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องสามารถทำกินต่อไปได้ และในส่วนที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ ขอให้หยุดบุกรุกหรือเข้าใช้พื้นที่เอาไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นพื้นที่ขอบอ่าง แต่ยังจำเป็นต้องรอการพิสูจน์ การรังวัดที่ดินให้ถูกต้อง เพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินต่อไป

ขณะชาวบ้านที่มีแปลงทำกินอยู่ในบริเวณพื้นที่เกาะ 100 ไร่ รวมถึงบริเวณรอบขอบอ่างคิรีธาร ก็ได้มารวมตัวกันเพื่อมารอฟังข้อมูลจากคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้รับข้อมูลว่าจะให้โอกาสในการรื้อถอนภายในห้วงระยะเวลา 30 วัน ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกพอใจกับการที่จะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ให้ไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่มีความคิดที่จะบุกรุกป่าสงวนแต่อย่างใด

ส่วนในกรณีให้รื้อถอนภายใน 30 วันนั้น ชาวบ้านบอกว่า ช่วงเวลาอาจจะน้อยไปสักนิด เนื่องจากการรื้อถอนจำเป็นต้องใช้งบประมาณรวมถึงแรงงานจำนวนมากแต่ก็ยอมรับในข้อผ่อนผันที่หน่วยงานราชการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงเจตนารมณ์ นอกจากนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ขอบอ่างยังได้แสดงถึงความกังวลว่า หลังจากนี้ทางกรมพลังงานทดแทน จะทำการขอคืนพื้นที่บริเวณรอบขอบอ่างอีก ซึ่งหลังจากนี้อนาคตของชาวบ้านที่กู้ยืม ธ.ก.ส.อาจจะต้องประสบปัญหาหนี้เสียตามมาเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตขายได้ในฤดูกาลผลิตนี้.