เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุด ว่า “ใครแพ้รุนแรง ควรพก EpiPen เครื่องมือช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน” พร้อมแนะควรจะส่งผู้ป่วยต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูอาการและรักษาเพิ่มเติมอีกด้วย

โดยข้อมูลสถิติที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับการเกิดภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylactic Shock) จากอาหารในประเทศไทยยังมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าอัตราการแพ้อาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวชรายงานว่า คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อาหารเพิ่มขึ้นถึง 300-400% โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
2. แม้จะไม่มีการเก็บข้อมูลการแพ้อาหารอย่างละเอียดในผู้ใหญ่ไทย แต่การศึกษาในต่างประเทศพบว่า 10.8% ของประชากรมีอาการแพ้อาหาร และอาหารที่มักเป็นสาเหตุของการแพ้ในคนไทย ได้แก่ อาหารทะเล (กุ้ง, ปู, หอย, ปลา), ข้าวสาลี, ถั่วต่างๆ, นม, ไข่
สำหรับ “การแพ้รุนแรง” หรือที่รู้จักกันในทางการแพทย์ว่า Anaphylaxis หรือ Anaphylactic Reaction เป็นอาการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้แบบรุนแรง ซึ่งหากรักษาไม่ทันการอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ สารก่อภูมิแพ้อาจเป็นสารที่อยู่ในอาหารอย่างไคตินในอาหารทะเล เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจไม่ออกอย่างเฉียบพลันเนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมหดตัวและบวมจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน และอาจนำไปสู่การขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้
- Epinephrine Autoinjector เป็นหนึ่งในเครื่องมือปฐมพยาบาลที่สำคัญต่อผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง และอาจช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ก่อนที่จะได้รับการรักษาโดยแพทย์
- Epinephrine ก็คือสาร Adrenaline โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ กระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือดซึ่งจะหักล้างปฏิกิริยาการขยายตัวของหลอดเลือดที่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ ทำให้ความดันโลหิตกลับมาปกติ การบวมของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมลดลง จนผู้ป่วยสามารถหายใจได้
- Epinephrine Autoinjector มักจะมาในรูปแบบของปากกา เรียกว่า “EpiPen” วิธีการใช้งานคือการฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อต้นขาด้านข้าง ซึ่งการฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อสามารถทำได้โดยตั้งเข็มฉีดที่มุมตั้งฉากกับผิว เข็มฉีดที่มากับเครื่องฉีดจะมีความยาวพอดีสำหรับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในเครื่องฉีดอัตโนมัติ เพียงกดหัวปากกาเข้ากับกล้ามเนื้อ ตัวปากกาจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อโดยอัตโนมัติ
โดยหลังจากใช้ “EpiPen” ผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรจะส่งผู้ป่วยต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูอาการและรักษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ใครควรใช้ EpiPen ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ผู้ที่มีประวัติแพ้รุนแรง เช่น แพ้อาหาร (อาหารทะเล, ถั่ว, นม, ไข่) แพ้แมลงกัดต่อย (ผึ้ง, ตัวต่อ) แพ้ยา (Penicillin, NSAIDs)
2. ผู้ที่เคยมีอาการ Anaphylaxis มาก่อน
3. ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่หมอหมูนำเสนอ มีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์