แม้จะเหลืออีก 3 สัปดาห์กว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดย พรรคประชาชน (ปชน.) จะได้รับการบรรจุ ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 24 มี.ค. เป็นวันแรกในการซักฟอก แต่คงต้องดูการเตรียมรับมือของพรรคเพื่อไทย (พท.) เพราะถือเป็นกระบวนการตรวจสอบในทางการเมืองครั้งแรก ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องเผชิญ ยิ่งเป็นการอภิปรายหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว แม้ว่านายกฯ จะสามารถขอให้บรรดารัฐมนตรีที่รับผิดชอบช่วยชี้แจงในประเด็นที่ถูกพาดพิง แต่ฝ่ายค้านคงไม่ยอม เพราะมองว่าในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องรับผิดชอบงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ

แม้วิปรัฐบาลจะแก้เกมเรื่องนายกฯ ถูกซักฟอกเพียงคนเดียว โดยให้อภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงวันเดียว แต่ก็สุ่มเสี่ยงถูกโจมตีจากฝ่ายต่างๆ ว่า ต้องการปิดกั้นกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งอาจกระทบกับภาพลักษณ์นายกฯ ซึ่งเป้าหมายต้องการกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า อีกทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง พท. กับ ปชน. อาจกลายเป็นเส้นขนาน ไม่มีทางที่จะบรรจบกันได้ หลังพรรคสีแดงข้ามขั้วมาจับมือจัดตั้งขั้วรัฐบาลเดิม อีกทั้งถ้าหากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ พรรคสีส้มทำหน้าที่ได้ดี มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของฝ่ายบริหาร ถึงขั้นนำใบเสร็จมาแสดง ตามญัตติซักฟอก นำเรื่องเข้าร้องต่อองค์กรอิสระ บางทีเป้าหมายที่วางต้องได้ สส. เกิน 250 เสียง อาจไปถึงได้อย่างที่วางแผนไว้

โดยคาดว่าประเด็นร้อนที่พรรคฝ่ายค้านจะหยิบมาอภิปราย คงหนีไม่พ้นเรื่องการถือครองหุ้นที่ดินสนามกอลฟ์อัลไพน์ ซึ่งกรมที่ดินเพิ่งเพิกถอนให้กลับมาไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ อีกทั้งเคยมีคำพิพากษาจำคุก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหมายความว่าที่ดินดังกล่าวมีปัญหาจริงๆ

ถ้าวันที่ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ แล้ว ยังถือหุ้นอัลไพน์อยู่ ก็ต้องไปพิจารณาว่า นายกฯ รู้หรือไม่ว่าธุรกิจนี้มีปัญหา รู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ หรือมีเหตุอันควรรู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ ถ้ารู้อยู่แล้วยังถือครองอยู่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ อาจถูกมองว่าความผิดสำเร็จแล้ว มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ต้องรอดูว่า จะมีผู้ไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้วินิจฉัยหรือไม่

ส่วนอีกประเด็นคือ การไปรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยไม่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำซักวันเดียว ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอยู่ โดยก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้เดินทางไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. แล้ว เนื่องจากเคยเข้าไปเยี่ยมอดีตนายกฯ ที่ชั้น 14 และพบว่า สภาพร่างกายเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วย โดยก่อนหน้านั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า การเข้าพักชั้น 14 ของนายทักษิณ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ต้องรอดูฝีมือฝ่ายค้าน จะมีข้อมูลลึกกว่าที่เป็นข่าวหรือไม่

นั่นหมายความว่า ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ และชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถือเป็นจุดตายของ “น.ส.แพทองธาร” ได้เหมือนกัน หากฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ด นอกเหนือจากที่สื่อเคยนำเสนอไป และหัวหน้ารัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามสร้างความกระจ่างให้สังคมได้

อีกทั้งน่าสังเกต ผลสำรวจ “นิด้าโพล” พบว่า คะแนนนิยมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ความไม่พอใจสูงกว่าความพอใจ โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 เดือน รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ. 68 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน เมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.58 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ รองลงมา ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 20.00 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 12.82 ระบุว่า พอใจมาก

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ รองลงมา ร้อยละ 31.76 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 22.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 13.36 ระบุว่า พอใจมาก เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.41 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 25.04 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น และร้อยละ 12.29 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก

ขณะที่การเตรียมการรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เปิดเผยถึงการตั้งองครักษ์พิทักษ์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท.หรือไม่ ว่า ขออย่าเรียกว่าทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ แต่เป็นทีม PTP Academy หรือ พรรค พท.อคาเดมี ประกอบด้วย สส.รุ่นใหม่ รุ่นเก่า รัฐมนตรี และนักวิชาการทั้งในพรรค และนอกพรรค ในการเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปราย ที่ดูแลเรื่องข้อมูล รวมถึงจะมีทีมที่ดูแลรักษาข้อบังคับในการประชุมสภา และทีมอธิบาย คือ ทีมประชาสัมพันธ์พรรค หรือ ทีมโฆษกของพรรคช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยหากประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับสภาหรือพรรค เมื่อถามว่านายสุทิน เป็น 1 ในทีมหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ตนเป็น 1 ในทีมสส.ดูแลรักษาข้อบังคับช่วยในเวทีสภา ก็อาจจะลุกขึ้นช่วยชี้แจงบ้างเท่าที่จำเป็น โดยพรรคมอบหมายให้เป็นคนจัดทีม คิดว่าจะมี สส.รุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ คาดว่ารวมกันประมาณ 10 คน ซึ่งจะมีการพูดคุยกันสัปดาห์หน้าในการประชุมพรรค

งานนี้ต้องบอกว่า ฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นถ้าหากใครเดินพลาดเล่นนอกเกม คงถูกประท้วงวุ่นแน่ แม้ พท.ยืนยันจะไม่มีการตั้งองครักษ์มาพิทักษ์นายกฯ อิ๊งค์ แต่ “พรรค พท.อคาเดมี” ก็ทำงานในรูปแบบเดียวกัน คงต้องรอดู “พรรค ปชน.” จะมีทีมงานคอยรับมือ การคอยป่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่

ด้านความเคลื่อนไหว “สว.สายสีน้ำเงิน” ที่ต้องการตอบโต้ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ที่พยายามผลักดันให้รับ “คดีฮั้วเลือกสว.” เป็นคดีพิเศษ โดยมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนนั้น มีรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 4 มี.ค. นี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจคือ การเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย เสนอโดย “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สว.กลุ่มกฎหมาย และคณะ ทั้งนี้สาระของญัตติที่เสนอดังกล่าว ได้ระบุโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 2560 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมาพบว่ากระบวนการยุติธรรมไทย ขาดประสิทธิภาพ และมีการแทรกแซง ครอบงำจากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการดำเนินคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรม โดยดีเอสไอ พบว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพ ทำคดีล่าช้า ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษอย่างแท้จริง รวมถึงไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

ญัตติระบุด้วยว่า เช่น การดำเนินคดีกับนายทุนชาวจีนสีเทาในข้อหายาเสพติด ฟอกเงิน และการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่เป็นปัญหายาวนานและทวีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

“นอกจากนี้ในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมยังเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ต้องขังบางคนได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ จึงสมควรที่วุฒิสภาจะได้อภิปรายระดมความคิดเห็นเพื่อพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการตามข้อบังคับวุฒิสภา ข้อ 35” ญัตติ ระบุ

สำหรับญัตติดังกล่าว “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ” และคณะ รวม 11 คน ได้ยื่นเสนอต่อกลุ่มงานญัตติ เมื่อ 26 ก.พ. เวลา 16.05 น. และได้รับการบรรจุในวาระประชุมทันที เท่ากับว่าการเดินหน้าตรวจสอบกระทรวงยุติธรรม และดีเอสไอคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ใครการด์ตกเมื่อไหร่ เจอสอยแน่นอน.

“ทีมข่าวการเมือง”