สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ว่า หลังเผชิญกับความล่าช้ามานานหลายปี อินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเปิดตัวโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับความสนับสนุนจากจีน เมื่อเดือน ต.ค. 2566

โครงการมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 240,145 ล้านบาท) เชื่อมโยงกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุง ในจังหวัดชวาตะวันตก ให้เหลือระยะเวลาการเดินทางเพียง 45 นาที ลดลงประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อสร้างโดยบริษัทร่วมทุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย 4 แห่ง และไชนา เรลเวย์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน

https://twitter.com/VOANews/status/1892650428216787233

ลาว เปิดตัวเส้นทางรถไฟมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 205,677 ล้านบาท) ที่จีนสร้าง เมื่อปี 2564 ด้วยความหวังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางรถไฟยาว 414 กม. เชื่อมต่อเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว และมีแผนจะขยายไปถึงสิงคโปร์ในอนาคต

หลังจากล่าช้ามานาน ไทย กำลังเร่งสร้างเส้นทางความเร็วสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน โดยจะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2571 และภายในปี 2575 เมื่อทางรถไฟสายใหม่เสร็จสมบูรณ์ รถไฟสายดังกล่าว จะวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับ คีร์กีซสถาน และ อุซเบกิสถาน ประธานาธิบดีซาดีร์ จาปารอฟ ผู้นำคีร์กีซสถาน เปิดโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมจีน-คีร์กีซสถาน-อุซเบกิสถาน เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเส้นทางขนส่งไปยังเอเชียกลาง และประเทศใกล้เคียง รวมถึงตุรกี และสหภาพยุโรป (อียู)

ล่าสุด เวียดนาม อนุมัติโครงการก่อสร้างทางรถไฟมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 274,000 ล้านบาท) จากเมืองท่าใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศ ไปยังจีน

เส้นทางสายนี้ จะผ่านศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญหลายแห่งของเวียดนาม รวมถึงของโรงงานซัมซุง ฟ็อกซ์คอนน์ และเพกาตรอน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาส่วนประกอบจากจีน

มาเลเซีย รื้อฟื้นโครงการรถไฟมูลค่าเกือบ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 581,867 ล้านบาท) เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างท่าเรือทางชายฝั่งตะวันออกกับตะวันตก

โครงการระยะทาง 665 กิโลเมตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน เริ่มการก่อสร้าง เมื่อปี 2554 ในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค แต่มีอันต้องระงับไป เนื่องจากข้อพิพาทเรื่องงบประมาณ อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟดังกล่าวอาจพร้อมให้ดำเนินการ ภายในปี 2570

ใน ปากีสถาน เมียนมา และฟิลิปปินส์ โครงการรถไฟที่อยู่ในแผนการมานานแล้ว ยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ขณะที่ฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากการเจรจา เมื่อปี 2566 หลังข้อพิพาททะเลจีนใต้เริ่มรุนแรงขึ้น.

เครดิตภาพ : AFP