วานนี้ (3 มี.ค. 2568) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานกรณีการค้นพบโครงกระดูกล่ามโซ่ในกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติความเชื่อและสมมุติฐานเดิมเกี่ยวกับนักบวชยุคไบแซนไทน์
ทีมนักโบราณคดีที่ขุดค้นบริเวณอารามคีร์บัต เอล-มาซานิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเยรูซาเลมได้เปิดเผยร่างที่เหลือแค่โครงกระดูกของบุคคลหนึ่งซึ่งมีโซ่โลหะพันอยู่รอบ
โดยทั่วไปแล้ว โครงกระดูกที่อยู่ในลักษณะนี้มักจะเป็นร่างของนักบวชชาย แต่การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยความจริงที่น่าประหลาดใจ ซึ่งก็คือโครงกระดูกดังกล่าวเป็นของผู้หญิง
การขุดค้นครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การโบราณวัตถุแห่งอิสราเอลและนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ทีมวิจัยได้ค้นพบหลุมฝังศพหลายแห่งซึ่งมีอายุระหว่างศตวรรษที่ 4-7 โดยมีหลุมฝังศพแห่งหนึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
แม้ว่าโครงกระดูกจะอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก แต่ก็มีหลักฐานของการบำเพ็ญตนอย่างเคร่งครัดตามความเชื่อศาสนา ซึ่งกำหนดให้ผู้ศรัทธาละทิ้งความสะดวกสบายทางโลกเพื่อแสวงหาความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณ โดยทั่วไปแล้ว จะพบเห็นแต่นักบวชชายเท่านั้นที่บำเพ็ญตนด้วยการทรมานตัวเอง

ในตอนแรก สภาพกระดูกที่ย่ำแย่ทำให้ไม่สามารถนำไปผ่านกระบวนการพิสูจน์เพศของโครงกระดูก จึงต้องใช้เทคนิคใหม่ที่เรียกว่าการตรวจโปรตีโอมิกส์ของเคลือบฟัน ปรากฏว่า เมื่อตรวจสอบสารเปปไทด์ภายในเคลือบฟันของฟันซี่หนึ่ง นักวิจัยพบร่องรอยของยีน AMELX ซึ่งจะพบอยู่ในโครโมโซม X และตรวจไม่พบยีน AMELY ซึ่งจะพบแต่ในโครโมโซม Y ของผู้ชายเท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า โครงกระดูกดังกล่าวเป็นของผู้หญิง
การค้นพบครั้งสำคัญนี้ได้มีการเผยแพร่ในวารสาร Journal of Archaeological Science: Reports ซึ่งตามรายงานของนักวิจัยระบุว่า หลักฐานของนักบวชหญิงที่ฝึกฝนบำเพ็ญตนด้วยการทรมานตนเองอย่างรุนแรงเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบันทึกทางโบราณคดีใดๆ
การบำเพ็ญตนกลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญในยุคเริ่มแรกของศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากปี ค.ศ. 380 เมื่อศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาหลักของจักรวรรดิโรมัน นักบวชผู้ศรัทธาพยายามหาวิธีฝึกฝนร่างกายเพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณ เช่น การใช้ชีวิตอยู่บนหัวเสาอันโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน, การสวมโซ่ตรวนหรืออดอาหารเป็นเวลานาน
แม้ว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะยืนยันว่ามีนักบวชหญิงอยู่จริง เช่น นักบุณเมลานิอาผู้อ่อนเยาว์ (Melania the Younger) ซึ่งเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์ที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษเพื่อสวดมนต์และอดอาหาร แต่ก่อนการค้นพบโครงกระดูกนี้ ไม่เคยมีหลักฐานทางวัตถุที่บ่งชี้ว่า ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทรมานร่างกายตัวเองในรูปแบบที่รุนแรงที่สุดเพื่อฝึกตน การค้นพบนี้จึงเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมนักบวชอย่างสิ้นเชิง และตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขตการมีส่วนร่วมของพวกเธอในประเพณีอันเคร่งครัดของนักบวชชาย

อารามคีร์บัต เอล-มาซานิสร้างขึ้นบนเส้นทางแสวงบุญไปยังกรุงเยรูซาเลม ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญในช่วงยุคไบแซนไทน์ อารามแห่งนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสถานที่สักการบูชาและเพื่อการเรียนรู้ แต่ยังเป็นที่พักสำหรับผู้แสวงบุญที่เดินทางมาจากแดนไกลสู่นครศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ร่องรอยของตัวตนของนักบวชหญิงที่ปรากฏในที่แห่งนี้ อาจบ่งบอกว่า ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตแบบนักบวชอย่างเคร่งครัดได้เช่นกัน
หลังจากนี้ นักวิจัยวางแผนที่จะตรวจสอบแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักบวชยุคไบแซนไทน์ต่อไป เพื่อหาว่าจะพบหลักฐานในทำนองเดียวกันนี้อีกหรือไม่
ที่มา : archaeologymag.com
เครดิตภาพ : Israel Antiquities Authority