แสงแดดและรังสียูวีในแสงแดดคือหนึ่งในปัจจัยหลักที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีปัจจัยที่เราอาจคาดไม่ถึงว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวได้ ซึ่งก็คือยารักษาโรคบางชนิดซึ่งส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น
“คนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่ายาที่ตัวเองใช้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น” ดร.เอมิลี่ อัลฟอนซี ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของศูนย์รักษามะเร็งผิวหนัง Shade Skin ในออสเตรเลีย กล่าว “พวกเขาอาจสังเกตเห็นว่า ผิวตัวเองไหม้แดดไวขึ้นหรือมีผื่นขึ้นผิดปกติ แต่พวกเขาไม่ทันคิดว่า อาการเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับยา”
อัลฟอนซีเคยเห็นผู้ป่วยที่มีอาการผิวไหม้แดดระดับสองโดยมีผื่นพุพองที่ไม่ทราบสาเหตุหรือรอยดำบนผิวหนัง แม้จะไม่ได้ตากแดดโดยตรง สาเหตุคือ ผิวที่ไวต่อแสง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกินปกติที่ร่างกายมีต่อรังสียูวี เมื่อร่างกายดูดซับรังสียูวีเข้าไปก็จะทำให้ตัวยาที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และอาจทำให้เกิดผื่น แผลพุพอง มีอาการบวม ผิวลอก แสบ คัน หรือรอยดำเรื้อรังได้
“สำหรับคนที่ใช้ยารักษาโรคที่ทำให้ผิวไวต่อแสง การอยู่กลางแดดเพียงไม่กี่นาทีโดยไม่ปกป้องผิวอาจส่งผลร้ายแรงได้” อัลฟอนซีกล่าว
เธอยังระบุตัวยา 4 ประเภทที่อาจทำให้ผิวเกิดอาการไวต่อแสง ดังนี้
1. ยาปฏิชีวนะ
อัลฟอนซีกล่าวว่า ยาในกลุ่มเตตราไซคลินและกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถทำให้เกิดอาการไหม้แดดอย่างรุนแรงได้ แม้จะได้รับรังสียูวีเป็นเวลาสั้นๆ
2. ยาขับปัสสาวะ
ยากลุ่มนี้ช่วยให้ร่างกายขับเกลือและน้ำส่วนเกิน เป็นตัวยาที่แพทย์มักจ่ายให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีอาการบวมน้ำ ผลจากการศึกษาวิจัยชี้ว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ กับระดับความเสี่ยงที่จะเกิดเซลล์มะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเพิ่มขึ้น
3. ยากดภูมิคุ้มกัน
ยากลุ่มกดภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไทโอพรีน ซึ่งมักใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะของร่างกายและลดอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ยากลุ่มนี้อาจไปทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันตามธรรมชาติของผิวหนังที่มีต่อความเสียหายจากรังสียูวีอ่อนแอลง
4. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโพรเฟนและนาพรอกเซน ช่วยลดอาการปวด การอักเสบ และไข้ และเป็นยาที่ใช้รักษาโรคโดยทั่วไป แต่นักวิจัยชี้ว่า การใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากขึ้น
แต่ถ้าหากเราจำเป็นต้องกินยาที่อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้นซึ่งจะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น ดร. อัลฟอนซีแนะนำว่า ควรเพิ่มการปกป้องผิวหนังมากขึ้น ดังนี้
– ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปทุกวัน แม้กระทั่งในฤดูหนาว
– สวมแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีได้ สวมหมวกปีกกว้าง และใช้อุปกรณ์ป้องกันแดดอื่นๆ
– หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ซึ่งมักจะอยู่ในช่วง 10.00 – 16.00 น.
– ไปพบแพทย์ผิวหนังเป็นประจำทุกปี และติดตามดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของผิวหนังหรือไม่
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : Franz Bachinger from Pixabay