เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายประวิตร บุญเทียม รองประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงสาเหตุที่ประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณาให้นำประเด็นข้อกฎหมายในคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.117/2567 ที่พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.), นายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ว่า คดีนี้กฎหมายกำหนดให้สามารถนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้เลยไม่ต้องฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดรับคดีไว้พิจารณาทางผู้ฟ้องก็ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาฯ คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนซึ่งวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดจะเหมือนกัน คือการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวองค์คณะจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในศาลปกครองสูงสุดองค์คณะจะประกอบด้วยตุลาการ 5 คน
นายประวิตร กล่าวอีกว่า ส่วนการนำเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด กฎหมายให้เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุด ที่เห็นว่ามีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นอันสำคัญควรเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ จึงเป็นดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุดที่นำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มติที่ประชุมใหญ่มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
เมื่อถามว่าประธานศาลปกครองสูงสุดรู้แนวคำวินิจฉัยขององค์คณะทั้ง5 ก่อนพิจารณานำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่หรือไม่ นายประวิตร กล่าวว่า กระบวนการทำคำพิพากษาของศาลปกครองไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษาก็จะต้องตรวจสอบโดยในศาลชั้นต้นจะให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ทั้งนี้ ในศาลสูงก็จะให้ประธานศาลปกครองสูงสุด ตรวจสอบก่อนทุกคดี ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงคำพิพากษา เป็นระบบของศาลโดยทั่วไป แต่ไม่สามารถจะไปสั่งแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นอะไรได้ ซึ่งก็แน่นอนว่าประธานศาลปกครองสูงสุด หรือรองประธานศาลปกครองสูงสุดที่รับมอบอำนาจก็จะรู้แนวคำวินิจฉัยขององค์คณะ โดยระบบก็เห็นว่ามีข้อกฎหมายข้อเท็จจริงที่จะควรนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกว่าคดีไหนจะเข้าที่ประชุมใหญ่ ส่วนที่บอกว่าประธานสูงสุดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับองค์คณะหรือไม่ก็มี แต่เรื่องนี้เห็นว่าเป็นคดีสำคัญ ที่ต้องวางหลักกฏหมายที่สำคัญ จึงควรให้ระดมความคิด โดยที่ประชุมใหญ่ ไม่จำเป็นว่าประธานจะต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับองค์คณะเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าในคดีวินัยหรือคดีอาญาของอดีต รองผบ.ตร.ตอนนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีผลกระทบต่อคดี ที่อยู่ในศาลปกครองสูงสุด เเละสามารถนำความคืบหน้ามายื่นเพิ่มได้หรือไม่ รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ศาลปกครองมีอำนาจในคดีคำสั่งทางปกครอง เช่นคดีการลงโทษทางวินัย คดีการให้ออกจากราชการไว้ก่อน ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีอาญาซึ่งมีโทษจำคุกไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง คดีของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ในเวลานี้เป็นคดีให้ออกจากราชการไว้ก่อนคดีเดียว แต่ถ้าต่อไปมีคดีสั่งให้ออกซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองก็สามารถนำมาฟ้องเพิ่มเติมเป็นอีกคดี ศาลก็จะดูเงื่อนไขการฟ้องและเนื้อหาคดีต่อไป ซึ่งในส่วนคดีปกครองกับคดีอาญาก็จะเป็นคดีที่คู่กันมาเสมอ โดยเฉพาะเรื่อง ป.ป.ช.ชี้มูล ทำให้อาจจะมีคดีอาญาปะปนอยู่ด้วย ซึ่งศาลปกครอง ก็ไม่ละเลยที่จะดูคดีอาญา และผลของคดีในส่วนอาญาที่ศาลตัดสินไว้แล้ว แต่ศาลปกครองก็มีดุลยพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐาน โดยไม่ผูกพันกับคดีอาญานั้น แต่ก็จะเอามาประกอบ ไม่ได้ละทิ้ง แต่ต้องมีคู่กรณีนำเสนอมาให้ศาลได้เห็น
เมื่อถามว่าคดีนี้ศาลมีความหนักใจหรือไม่เนื่องจากในชั้นคุ้มครองชั่วคราวความเห็นขององค์คณะที่มีกระเเสข่าวหลุดมาก่อนเเละสุดท้ายมีความเห็นขัดกันกับมติของที่ประชุมใหญ่ นายประวิตร กล่าวว่า การทำงานของศาลฯ จะว่ายาก ก็ยาก ไม่ยากก็ไม่ยาก แต่ใช้เสียงข้างมากตัดสิน ไม่ว่าจะในองค์คณะหรือที่ประชุมใหญ่ก็ใช้เสียงข้างมากตัดสิน ก็ไม่มีอะไรหนักใจ ส่วนเรื่องที่โดนกลับความเห็นมองว่าการเป็นตุลาการ ก็ต้องยึดมั่นในความเห็นตัวเองแต่ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับเสียงข้างมาก ตุลาการทุกคนจะต้องเจอแบบนี้ เมื่อแสดงความเห็นไป แต่เจอเสียงข้างมาก ก็ต้องจบตามเสียงข้างมาก ถ้าหนักใจก็คงหนักตั้งแต่เข้าทำงานใหม่ๆ แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าคำวิจฉัยคดีหลักจะต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่ หรือต้องใช้เงื่อนไขเดียวกันหรือไม่ นายประวิตร กล่าวว่า อาจจะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้ แล้วแต่ประธานศาลปกครองสูงสุด คดีนี้รอบแรกในเรื่องวิธีการชั่วคราวมีการนำเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว แต่เมื่อลงในเนื้อหาว่าคำสั่งให้ออกจากราชการชอบหรือไม่ ยังไม่ทราบว่าจะต้องนำเข้าที่ประชุมใหญ่หรือไม่ เป็นดุลยพินิจของประธานศาลปกครองสูงสุด หลักกฏหมายใช้คำว่าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควร แต่ในทางปฏิบัติก็จะเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ทุนทรัพย์สูงประชาชนให้ความสนใจ ก็จะใช้เหตุต่างๆ เหล่านี้.