เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 68 ที่ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ในการประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อพิจารณาคดีเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปด้วยสุจริตหรือเที่ยงธรรมเป็นคดีพิเศษ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
ภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวต่อสื่อว่า วันนี้เราพิจารณาคดีของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งได้พิจารณาคดีตกค้างเป็นคดีพิเศษหรือไม่ โดยในที่ประชุมมีการถกเถียงกันในหลายความเห็น โดยพิจารณาตามหลักการของกฎหมายอย่างครบถ้วน โดยคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับสถาบันนิติบัญญัติที่สำคัญของประเทศ และเป็นคดีที่พี่น้องประชาชนให้ความสำคัญสนใจติดตาม ทั้งนี้ เราได้พูดคุยกัน และได้ข้อสรุป ดังนี้ คือ การประชุมวันนี้บอร์ด กคพ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางดีเอสไอว่ามีการกระทำความผิด การกระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายตามคดีพิเศษหรือไม่ ดังนั้น วันนี้ที่ประชุม กคพ. ไม่ได้มีการประชุมในวาระได้มาซึ่ง สว. แต่อย่างใด โดยในที่ประชุมเห็นว่าการกระทำความผิดที่มีผู้มาร้องทุกข์ มีลักษณะการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับการได้มาซึ่ง สว. ในการใช้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจว่าให้เลือกหรือไม่เลือกเป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า บอร์ด กคพ. ขอย้ำว่าการพิจารณาเป็นคดีพิเศษในครั้งนี้ ผ่านความเห็นชอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหลากหลายที่ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจแทนคนใดคนหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามกฎหมายทั้งหมด และบอร์ด กคพ. ขอย้ำว่าการพิจารณาในวันนี้ ไม่ใช่การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. โดย กกต. ก็ทำงานของตนเองในการดูแลการจัดการการเลือกตั้ง เราก็มีหน้าที่ดูแลการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายในคดีพิเศษเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นการประสานงานการทำงานความร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของตนเองที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ประชาชน เราจะละเลยไม่ได้ เพราะจะเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และส่งผลเสียต่อประชาชน
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ดีเอสไอรับเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าบุคคลใดถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดทางกฎหมายแล้ว แต่จะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายอีกมากมายในการที่จะบอกว่าเป็นจริง ดังนั้น ก็เปลี่ยนไปตามกระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาด้วย
นายภูมิธรรม ระบุต่อว่า โดยสรุปแล้วในที่ประชุมองค์ประชุมทั้งหมด 18 คน มีมติชี้ขาดกรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคล หรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ ที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอมา ตามมาตรา 21 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ส่วนคดีอาญาอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคดีพิเศษดังกล่าว ตามมาตรา 21 วรรค 2 เพื่อทำการสอบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 47 วรรค 1 ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ต้องมีมติดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ส่วนในที่ประชุมวันนี้มี 18 เสียง มีมติรับเป็นคดีพิเศษ 11 เสียง และไม่รับ 4 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
ขณะที่การลงมตินี้มีความหนักใจหรือไม่ เมื่อถูกนำไปโยงกับประเด็นทางการเมือง นายภูมิธรรม ระบุว่า ตนเองคิดว่าคณะกรรมการทุกท่านมีความหนักใจ เพราะเป็นประด็นเกี่ยวกับสถาบันนิติบัญญัติ และสาธารณชนกำลังจับตามอง จึงได้กำชับว่าการพิจารณาให้ใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบ โดยอิงข้อมูลจากกฎหมาย และข้อมูลต่างๆ และตัดสินให้ดีที่สุด อีกทั้งการพิจารณาในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลหรือเรื่องการเมือง เราพิจารณาตามข้อกฎหมาย เพราะหลายคนกังวลใจว่าหากพิจารณาแล้วจะมีผลกับตัวเอง เชื่อว่าเราทำสิ่งที่รอบคอบแล้ว คุยกันทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งเราตัดสินใจแล้วก็ต้องรับผิดชอบ และเป็นกระบวนการที่รับมาเพื่อตรวจสอบและท้ายที่สุดก็จะไปจบที่ศาล ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาด และเราไม่ใช่ผู้ชี้ขาด
เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือไม่ที่มีรายชื่อพยานในคดีนี้กว่า 1,200 คน หลุดออกไป นายภูมิธรรม กล่าวว่า หลุดไปก็เป็นเรื่องหลุด ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง เมื่อไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง เมื่อหลุดแล้วก็ให้หลุดไป และไม่กังวลกับผลโหวตในครั้งนี้ เพราะเมื่อโหวตไปแล้วก็ให้ที่ประชุมรับรอง ส่วนหลังจากนี้ จะต้องร่วมมือกับ กกต. ในการทำงานอย่างไรต่อไป นายภูมิธรรม เผยว่า อย่าไปคิดว่าเราแตกแยก เรายังทำงานร่วมกันได้ คดีนี้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ อะไรที่เกี่ยวพันกันก็ประสานงานกัน

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า การประชุมในวันนี้ได้รับเป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ในมาตรา 21 วรรค 1 ซึ่งตามปกติแล้ว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถชี้ขาดได้เลย แต่เนื่องจากมีข้อมูลบางประการที่มีข้อสงสัยที่ต้องให้คณะกรรมการคดีพิเศษใช้เสียงกึ่งหนึ่งของผู้เข้าประชุม ซึ่งเสียงของคณะกรรมการส่วนใหญ่ได้ชี้ขาดแล้วว่าเป็นคดีพิเศษ ซึ่งไม่ต้องใช้ตามมาตรา 21 วรรค 2 โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไป จะเป็นเหมือนหลักค้ำประกันให้กับอธิบดีดีเอสไอ คือ การรับเรื่องเป็นคดีพิเศษ และขอให้พนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยุติธรรม รวมถึงให้การปฏิบัติงานมีความโปร่งใส ส่วนขั้นตอนต่อไป เป็นเรื่องที่ดีเอสไอ จะจัดตั้งพนักงานสอบสวน เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน
เมื่อถามว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ กกต. ในชั้นสอบสวน หากมีการเรียก กกต. มา จำเป็นจะต้องเข้ามาให้ข้อมูลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นของ กกต. ที่ผ่านมา กกต. ก็ได้มีการประสานงานกับดีเอสไอ ได้มีการทำหนังสือมา ซึ่งหนังสือฉบับนั้น ยังไม่ได้มีการยกเลิก และในการทำงาน เนื่องจากกฎหมายมีการทับซ้อนกัน ก็อาจประสานงานกัน
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าต่อจากนี้ กกต. จะต้องมาให้ข้อมูลเองโดยไม่สามารถส่งหนังสือมาชี้แจงได้แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะข้อหาที่เป็นฐานฟอกเงิน เกิดมาจากฐานอั้งยี่ และมีการอภิปรายในฐานความผิดอาญาอื่น ก็ต้องนำมาประกอบการพิจารณา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการได้มีความเห็น และเมื่อเห็นว่าความจริงเป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติแล้ว ในความผิดฐานฟอกเงิน แต่ยังมีความสงสัยในเรื่องรายละเอียด ว่ามูลค่าของทรัพย์สินเกินกว่า 300 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอจะต้องไปดูเส้นทางการเงินและเส้นทางบุคคล ว่ามีตัวเลขเกิน 300 ล้านบาทหรือไม่ จึงต้องให้คณะกรรมการพิเศษเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งคำชี้ขาดนี้ถือเป็นที่ยุติ และการเป็นคดีพิเศษไม่ใช่หมายความว่าจะทำคดีต่างจากที่อื่น แต่จะมีผู้เชี่ยวชาญในการสอบสวน และที่สำคัญคือการทำตามพยานหลักฐาน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนที่บางฝ่ายมีความเห็นว่าคดีนี้เป็นหน้าที่ของ กกต. แต่การที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีมา ต้องการดึงเป็นเรื่องทางการเมืองนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตอนนี้ กกต. ก็ทำอยู่ในบทบาทของเขา เพราะหนังสือตอบรับของ กกต. ก็ได้ตอบอย่างชัดเจนแล้วว่าความผิดในคดีอาญาอื่น ๆ กกต. ไม่มีอำนาจ
ส่วนกรณีที่ สว. ออกมาแสดงความเห็นว่า การเลือกตั้ง สว. มาโดยวิธีสุจริตชอบธรรม ไม่มีความผิดตามที่กล่าวหา ดีเอสไอต้องทำเรื่องนี้โดยละเอียดหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการตั้งข้อสงสัยในสภา พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า สว. มีกระบวนการตรวจสอบได้อยู่แล้ว เราก็เคารพท่าน แต่วันนี้คณะกรรมการ ไม่ได้มีฐานทางการเมืองเลย ซึ่งประธานในที่ประชุมก็ได้พูดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ กระทบกับความมั่นคง ถ้ามีการครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ ก็จะส่งผลกระทบต่อหลายๆ เรื่อง ซึ่งเราก็ทำในความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนจะขยายไปเป็นคดีอั้งยี่หรือคดีอื่นๆ ก็คงจะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้ง เรายินดีหาก สว. จะมาให้การหรือแสดงความบริสุทธิ์ เราก็พร้อมที่จะรับ
ส่วนหนักใจหรือไม่ ที่มองว่าเป็นตำบลกระสุนตก พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เป็นเรื่องนี้ต้องให้นายภูมิธรรมเป็นผู้ตอบ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรรมการทั้ง 11 ราย ที่เห็นชอบให้รับคดีฮั้ว สว. 67 เป็นความผิดฐานฟอกเงินทางอาญา ประกอบด้วย 1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 2.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม 3.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม 4.พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ 5.นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 6.พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดี 7.นางดวงตา ตันโช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 8.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 9.นายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 10.นางทัชมัย ฤกษะสุต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และ 11.นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร

โดยภายหลังที่นายภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี ได้แถลงข่าวเสร็จ ทั้งคู่ได้เดินไปพบกับกลุ่ม สว.สำรอง นำโดย พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่มาปักหลักรอฟังผลการพิจารณาที่ชั้นล่างของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้มอบดอกไม้ให้กำลังใจให้กับนายภูมิธรรม และ พ.ต.อ.ทวี ด้วย
นายภูมิธรรม จึงกล่าวขอบคุณที่มาให้กำลังใจ พร้อมย้ำว่า การทำงานครั้งนี้ด้วยความยากลำบาก และมีผลกระทบต่อหลายส่วน ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และกฎหมายได้ถูกพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และยืนยันว่าการพิจารณาในครั้งนี้ ไม่ได้อิงอะไร นอกจากความเป็นจริงและกฎหมาย หลังจากนี้เราต้องทำหน้าที่ไต่สวนทำความจริงให้ปรากฏ ส่วนคนที่จะชี้ขาดคือศาล ตนในฐานะที่เป็นประธาน กคพ. รับฟังทุกอย่างเต็มที่ และให้ทุกคนพิจารณาด้วยดุลพินิจอย่างรอบคอบ ก่อนลงมติ และรับรองโดยที่ประชุม.