ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความผันผวนทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมได้นำเสนอแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ นั่นคือการนำหลักการ ‘พอร์ตโฟลิโอการลงทุน’ มาประยุกต์ใช้กับการปลูกต้นไม้ในระดับโลก เพื่อลดความเสี่ยงในการเลือกชนิดพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือการปลูกในบริเวณที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และเพิ่มประสิทธิภาพของการฟื้นฟูระบบนิเวศ

ข้อมูลจาก The Guardian สหราชอาณาจักร ระบุว่า การปลูกต้นไม้ภายใต้แนวคิดดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยเปรียบเทียบการปลูกต้นไม้กับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น พันธบัตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์ กล่าวคือ แทนที่จะปลูกต้นไม้ชนิดเดียวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ให้เปลี่ยนมาปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ระบบนิเวศมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้การกระจายความเสี่ยงยังช่วยให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสมบูรณ์และความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม

ในปัจจุบัน นานาประเทศต่างให้คำมั่นสัญญาในการปลูกต้นไม้จำนวนมหาศาลเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 30,000 เฮกตาร์ (74,000 เอเคอร์) ต่อปีจนถึงปี 2050 หรืออย่างคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ให้คำมั่นว่าจะปลูกต้นไม้ 3 พันล้านต้นภายในปี 2030 ขณะที่สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน ก็เคยประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 1 พันล้านต้นภายในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ควรตั้งคำถามคือ ‘เราควรปลูกต้นไม้ชนิดใด และควรปลูกที่ไหนบ้าง?’ ซึ่งคำตอบของคำถามดังกล่าวควรต้องพิจารณาตั้งแต่ ณ เวลานี้ แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและเศรษฐกิจในอนาคตก็ตาม

แนวคิดการกระจายความเสี่ยงในการปลูกต้นไม้

งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ ได้เสนอว่า การนำแนวคิดของพอร์ตการลงทุนทางการเงินมาใช้กับการปลูกป่า อาจช่วยลดความเสี่ยงของโครงการปลูกต้นไม้ในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่สภาพอากาศและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้

“ปัญหาหลักๆ คือ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรในอนาคต หากภาวะโลกร้อนรุนแรง พันธุ์ไม้ที่มีลักษณะใบกว้างซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหราชอาณาจักร อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการดูดซับคาร์บอน แต่พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง ในทางกลับกัน หากสภาพอากาศในอนาคตไม่ได้ผันผวนมากนัก การปลูกต้นสนในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า แต่ถ้าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย ต้นสนเหล่านี้อาจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร” ‘ดร.แฟรงกี้ โช’ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าว

ข้อได้เปรียบของการปลูกต้นไม้แบบกระจายความเสี่ยง

การปลูกต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์และกระจายในหลายพื้นที่ เป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงสายพันธุ์หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไป แนวคิดนี้เปรียบเสมือนการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยงานวิจัยที่ศึกษาได้นำปัจจัยความไม่แน่นอนของสภาพอากาศและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมาพิจารณา เพื่อพัฒนาแนวทางการปลูกป่าที่สมดุลและยั่งยืน

นักวิจัยอธิบายว่า การเลือกปลูกต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ในพื้นที่ที่แตกต่างกันนั้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด หรือความผันผวนของตลาดไม้ บางพื้นที่อาจให้ผลตอบแทนสูง ในขณะที่บางพื้นที่อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อกระจายการปลูกออกไป ความเสี่ยงโดยรวมก็จะลดลง

ในบริบทของประเทศไทย

เมื่อพิจารณาบริบทของประเทศไทย การปลูกป่าเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ที่คำนึงถึงทั้งปัจจัยทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งเอื้อต่อการปลูกไม้พื้นเมืองที่สามารถกักเก็บคาร์บอนและฟื้นฟูระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมเป็นป่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ ดังนั้น การนำแนวทางการปลูกต้นไม้แบบกระจายความเสี่ยงมาใช้ในประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

สำหรับประชาชนทั่วไป การปลูกต้นไม้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่เป็นการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยต้องการปลูกป่าเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ควรนำแนวทางที่อิงกับหลักการกระจายความเสี่ยงมาใช้ โดยหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ตามโครงการที่ขาดการพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาว และหันมาเน้นการเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือเลือกปลูกไม้เศรษฐกิจ ตั้งแต่ไม้ผล ไม้ใช้สอย ไปจนถึงไม้สมุนไพร ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว

ทั้งนี้ การนำแนวทางการปลูกต้นไม้แบบกระจายความเสี่ยงมาใช้ให้เกิดผลสำเร็จ จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการปลูกต้นไม้ที่คำนึงถึงปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเท่านั้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนและดำเนินโครงการปลูกป่าก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จและเกิดความยั่งยืนในระยะยาว