ความผูกพันต่อแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต ก่อให้เกิดวิถีของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ แก่งละว้าที่เป็นเอกลักษณ์ และเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ไม่ใช่เพียงแค่การถนอมอาหารอย่าง “ปลาร้า” และ “ปลาส้ม” ที่กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อ แต่ยังมีเส้นทางสายอาหาร “วิถีการกินฉบับคนบ้านน้ำ” ที่หลอมรวมวิถีเกษตรและการทำประมงจนเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว “ล่องเรือแก่งละว้า” โดย เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า

เริ่มต้นที่แปลงผักปลอดภัยบ้านโคกสำราญ ชมวิธีการปลูกผักริมแก่งละว้าของ อ.บ้านแฮด แล้วลงเรือชมระบบนิเวศของแก่งละว้า พร้อมวิถีประมงพื้นบ้านและแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ก่อนจะไปชมการผลิตปลาร้าแดดเดียวแม่ละเอียดของ บ้านโดนละม่อม อ.บ้านไผ่ เลยไปต่อที่ ฟาร์มปลาพ่อพงษ์ บ้านหนองนางขวัญ ชมเทคนิคการเลี้ยงปลาในพื้นที่น้ำกร่อย ถัดไปที่ บ้านไฮ่บ้านสวน สนุกกับกิจกรรมเวิร์กช็อป ทำปลาส้มสูตรดั้งเดิมของบ้านไผ่ กิจกรรมทำข้าวต้มมัดเมืองเก่า และการตีมีดโบราณโดยช่างเยาวชนเป็นของแถม ก่อนจะไปจบที่แหล่งวัตถุดิบการหมักปรุงชั้นดี ณ พื้นที่ที่ชาวชุมชนเรียกว่า บ่อกฐิน เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาการต้มเกลือสินเธาว์
กิจกรรมล่องเรือสัมผัสวิถีคนบ้านน้ำเส้นทางที่ว่านั้น บ้านไฮ่บ้านสวน หนึ่งในเครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า นำมาจัดเป็นโปรแกรมแบบวันเดย์ทริปหลากสไตล์ให้เลือกตามความชอบ มีทั้งแบบชวนนุ่งซิ่นเข้าวัดทำบุญตามวิถีอีสาน แล้วค่อยไปเยี่ยมเยือนโรงตีมีดโบราณ ก่อนจะลงเรือล่องออกสำรวจโนนตาโก้ง พื้นที่หมู่บ้านโบราณที่ปัจจุบันกลายเป็นเกาะกลางน้ำ สายมูมาที่นี่แล้วห้ามพลาดการสักการะ “ปู่ตาแก่งละว้า” เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นพาไปอิ่มอร่อยมื้อกลางวันท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่งที่ท่าเรือเขตอนุรักษ์หัวโนนจาน ก่อนจะเปลี่ยนบรรยากาศพาไปนั่งรถสองแถวไม้สุดเก๋ แวะชมการเลี้ยงหอย แปลงผักปลอดสาร การเลี้ยงควายทาม แวะชอปปิงร้านค้าชุมชน และชมวิวท้องนาสองข้างทาง ต่อด้วยการเยี่ยมชมตลาดแลงเมืองเก่าบ้านเมืองเพีย ที่เป็นตลาดอาหารพื้นบ้าน แล้วจบด้วยการเยี่ยมชมฟาร์มปลาพ่อพงษ์

หรือจะออกล่องเรือไปแต่เช้าเพื่อชมภาพพระอาทิตย์ที่กำลังจะโผล่พ้นขอบฟ้า โดยมีฝูงนกบินอวดโฉมไปทั่วแก่งท่ามกลางดอกบัวแดงที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วมุ่งหน้าไปโนนตาโก้ง ก่อนจะไปร่วมกิจกรรมทำดอกไม้บูชาพระเพื่อนำไปไหว้พระขอพร
“พระเจ้าใหญ่ผือบัง” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ อ.บ้านไผ่ อิ่มอร่อยกับเมนูอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล จากนั้นจึงค่อยไปชมการตีมีดโบราณของเยาวชนที่สืบสานภูมิปัญญาบรรพบุรุษ โดยเส้นทางการล่องเรือสัมผัสวิถีคนบ้านน้ำจะแตกต่างไปในแต่ละฤดูกาล รวมถึงเมนูอาหารที่จะได้ลิ้มลอง

นอกจากแก่งละว้าแล้ว “ชุมชนสาวะถี” อีกชุมชนที่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ “Local Co-Creation” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการท่องเที่ยว ให้มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และตอบโจทย์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยในปี 2567 ที่ผ่านมายังจัดผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอาหารและการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับ “ชูสำรับวิถีชุมชน” ภายใต้แนวคิด “การสร้างประสบการณ์ผ่านรสชาติ ผสานความยั่งยืน – Sustainable Food Good Experience”
บ้านสาวะถีเป็นชุมชนที่ซ้อนทับกับพื้นที่ของชุมชนโบราณเดิมที่ถูกทิ้งร้างไป จึงปรากฏหลักฐานทั้งเครื่องใช้โบราณ วัดร้าง รวมถึงพระพุทธรูปเก่า จนมีกลุ่มคนจากบ้านทุ่ม (บ้านถ่ม) มาพบเจอและชักชวนเครือญาติมาตั้งรกรากจนเป็นชุมชนสาวะถี “หมู่บ้านหมอลำ” เลื่องชื่อของขอนแก่นในวันนี้ ซึ่งมี “ระเบียบวาทศิลป์” เป็นคณะหมอลำที่เป็นหน้าเป็นตาโด่งดังระดับประเทศ

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของ “ฮูปแต้มสินไซ” จิตรกรรมฝาผนังชื่อดังแห่ง “วัดไชยศรี” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรู้จักบ้านสาวะถี ฮูปแต้มที่วาดเต็มพื้นที่ทั้งผนังด้านนอกและด้านในของอาคาร บอกเล่าเรื่องราว
ของ “สังข์สินชัย” หรือ “สินไซ” ตัวละครเอกของวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมแห่งอาคเนย์ ด้วยความที่เล่าต่อกันมาช้านานไม่ใช่เพียงแค่ทั่วทุกภาคของไทย แต่ยังเลยไปถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียง โดยฮูปแต้มของวัดไชยศรีถือว่ามีการแสดงเนื้อหาเรื่องสินไซได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด และยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
ฮูปแต้มด้านนอกเล่าเรื่อง พระเวสสันดรชาดก สินไซ นรกเจ็ดขุม และภาพทหารยืนเฝ้าประตู ขณะที่ด้านในพระอุโบสถเป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก สินไซ ภาพเหล่าเทพ บุคคล และสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งห้ามสุภาพสตรีเข้า แต่เดิมพระอุโบสถหรือ “สิม”
หลังนี้เป็นสิมทึบตามแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากช่างญวน บันไดทางขึ้นเฉพาะด้านหน้า และมีการเจาะหน้าต่างจริงเฉพาะช่องกลาง

เมื่อมาถึงบ้านสาวะถีก่อนที่จะพาชมฮูปแต้มพร้อมบอกเล่าเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนัง ชุมชนสาวะถีจะต้อนรับด้วย “เข็มกลัดธุงใยแมงมุม” สัญลักษณ์แห่งความโชคดีและป้องกันสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ที่มี กิจกรรมเวิร์กช็อป ให้ได้ลงมือทำเพื่อเป็นของที่ระลึกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นมาถึงหมู่บ้านหมอลำแล้วต้องได้ชมหมอลำ โดยมีการแสดง “หมอลำคนสองวัย หัวใจเดียว หรือหมอลำน้อยร้อยปี” ที่บอกเล่าเรื่องราวของสินไซแบบม่วนซื่นโดยสมาชิกหมอลำทุกรุ่นทุกวัยของบ้านสาวะถี
เรื่องราวของสินไซยังถูกผูกโยงเข้ากับสำรับวิถีชุมชนสาวะถี ด้วยการเสิร์ฟ “พาสวยสินไซ” พาข้าวหรือชุดอาหารอีสานดั้งเดิมรสแซ่บนัวที่ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล พร้อมเล่าเรื่องอาหารผ่านวิธีการปรุงในรูปแบบต่าง ๆ และชุด “ข้าวปุ้นฮ้อนสินไซเดินดง” ขนมจีนพื้นบ้าน 3 น้ำ ที่เปิดประสบการณ์ให้กับผู้มาเยือนด้วยรสสัมผัส 3 รสชาติ หวาน มัน เผ็ดแซ่บ ปิดท้ายด้วยขนมหวาน “สาคูสังข์สินไซ” หวานนุ่มละมุนลิ้น
และห้ามพลาดกับการลงมือทำ “ข้าวเขียบ” หรือข้าวเกรียบว่าวที่ทำมาจากข้าวเหนียวผสมกับสมุนไพรเครือตดหมา โดยได้รับการพัฒนาให้เป็นภาชนะรักษ์โลกขนาดพอดีคำ เสิร์ฟคู่กับอาหารพื้นถิ่นเป็น “คานาเป้ก้อยปลาดุก” สมุนไพรเครือตดหมาที่นำมาเป็นส่วนผสมข้าวเขียบ มีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม และอาหารเป็นพิษ เมนูนี้จึงถูกบรรจุอยู่ในเมนูอาหารเป็นยาด้วยอีกอย่าง
ออกเดินทางสัมผัสวิถีชุมชน เรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่นทั้งยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ “แก่งละว้า” พื้นที่ชุ่มน้ำที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ พร้อมกับทำความรู้จักกับหมู่บ้านหมอลำที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับวรรณกรรมพื้นบ้าน “สินไซ” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านไฮ่บ้านสวน แก่งละว้า คุณใบหม่อน เพชรลัดดา โทร. 06-3504-0999 ชุมชนบ้านสาวะถี โทร. 08-7640-6718 (นงนุช) หรือ Facebook Page : เที่ยวสาวะถีวิถีสุข
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น โทร. 0-4322-7714-5 Facebook Page : ททท.สำนักงานขอนแก่น TAT Khonkaen Fanpage หรือ 1672 Travel buddy.
อธิชา ชื่นใจ