เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามเป็นหนังสือของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถาม รมว.แรงงาน เรื่องอุปสรรคการผลักดันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ และแนวทางการผลักดันนโยบายปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต หลังจากที่มีการเลื่อนพิจารณาปรับขึ้นค่าแรง 3 ครั้ง

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า เราได้ความพยายามผลักดันเรื่องการขึ้นค่าแรงที่เคยได้พูดไว้ โดยได้นำโมเดลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อปี 2555 ในพื้นที่ 7 จังหวัด มาพิจารณา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กรรมการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำและคณะอนุฯ ของ 76 จังหวัด เห็นว่าสามารถขึ้นได้ 4 จังหวัดคือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.สมุย จ.สุราษฎร์ธานี ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท โดยชี้แจงว่าไม่ได้สบายใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ส่วนปัจจัยที่วิเคราะห์ว่าอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงคือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยขั้นรุนแรง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และกระทรวงแรงงานจากประชุมครั้งหนึ่ง ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำ ไตรภาคี ก่อนที่จะหมดวาระในวันที่ 13 ม.ค. นี้ แต่ยังต้องรักษาการจนกว่าจะสรรหาใหม่

“ผมยังมีความมุ่งหวัง เพราะไม่สามารถบังคับใครได้ ฝากไปที่คณะกรรมการไตรภาคี ว่าช่วยฝากความคิด การที่พยายามเอาจังหวัดนำร่องตั้งเป็นสมมุติฐานให้ได้ และพยายามเอาอาชีพบางอาชีพ ที่คิดว่าเศรษฐกิจเขาดีขึ้น แล้วประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ ผมคิดว่าในส่วนนั้น อาจจะมีการดำเนินต่อไปได้ในเบื้องต้นในการประชุมวันที่ 12 มี.ค.นี้” รมว.แรงงาน กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เพิ่มค่าลดหย่อนกับคำนวณภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการ จะเกี่ยวเนื่องกับกระทรวงการคลัง หรือลดเงินสมทบผู้ประกันตนฝ่ายนายจ้าง เป็นเรื่องประกันสังคมในกระทรวงแรงงาน สามารถทำได้ไม่ยาก และยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านสาธารณสุข อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงาน ที่จะต้องมีการหารือกัน ซึ่งในหลายประเด็น จะนำโมเดลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปี 2555 มาพิจารณาประกอบ หากประเด็นใดเป็นเรื่องใหม่จะนำมาพิจารณา โดยย้ำว่าความพยายามของกระทรวงแรงงาน ยังคงพยายามที่จะประกาศขึ้นค่าแรง แต่ที่สำคัญฝากถึงคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากไม่สามารถเข้าที่ประชุมได้ ได้แต่เพียงมอบนโยบาย

รมว.แรงงาน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังอ้างอิงว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภคที่ขยับตามมา โดยกระทรวงพาณิชย์ได้บรรเทาด้วยสินค้าธงฟ้า จึงขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ได้บรรเทาค่าครองชีพประชาชน แต่ผลกระทบเกี่ยวกับด้านการเกษตร เช่น น้ำมันพืช จากภาวะภัยแล้ง ปาล์มทะลายผลผลิตลดลง ทำให้ราคาน้ำมันพืชจากราคา 40 บาท ขึ้นเป็น 60 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์พยายามเยียวยาและควบคุมราคาสินค้า หากการประชุมครั้งแรกการขึ้นค่าแรงยังไม่ผ่าน สามารถเรียกประชุมครั้งที่สอง ภายใน 15 วัน ซึ่งจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จึงขอฝากไปยังสปิริตของคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำ ว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง แม้ว่าจะกระทบขอให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ในส่วนการขึ้นค่าแรงจาก 400 บาท ไปเป็น 600 บาท ภายในปี 2570 ที่เคยพูดเอาไว้นั้น อธิบายเพิ่มเติมว่า จะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอัตราการเจริญเติบโตจีดีพี และพิจารณาอัตราเงินเฟ้อไทย เหมาะสมหรือไม่ที่จะมีการขึ้นค่าแรงถึง 600 บาท หากทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถก้าวไปได้ ก็ไม่สามารถเดินไปถึงส่วนนั้นได้ แต่กระทรวงแรงงานประกาศ 129 อาชีพ ที่จะได้รับการพัฒนา และได้รับค่าแรงเกินกว่า 400 บาทแล้ว ขาดเพียง 13 สาขาอาชีพ ที่ยังมีค่าแรงต่ำกว่า 400 บาท โดยยืนยันจะพยายามต่อไป เพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในส่วนนี้.