วันที่ 10 มี.ค. ภารกิจของ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2568 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายกฯ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ 3 กระทรวง 5 กรม ซึ่งได้รับการจัดสรรงบลงทุนมากที่สุด คือ กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รวมถึงรัฐวิสาหกิจ การเบิกจ่ายจะเป็นตัวประเมินการทำงานอธิบดี

ส่วนประชุมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง แถลงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 และเป็นเฟสแรกที่แจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในกลุ่มอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายในช่วงเดือนเม.ย.–มิ.ย. 68 รัฐบาลเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีความเหมาะสม เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่วัยเรียน สามารถนำไปใช้จ่ายในสิ่งของที่จำเป็นการการเรียน หรือช่วยเหลือพ่อแม่ได้

“รมช.ออฟ” เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า เหตุที่รัฐเลือกแจกเงินให้กลุ่มอายุ 16–20 ปี ไม่ใช่เพราะเป็นกลุ่มน้อย แต่รัฐบาลประเมินตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เป็นนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซั่น ที่รัฐมองว่าจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น

“รมช.หนิม” จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 3 นี้ เป็นการเขียนโครงการขึ้นมาใหม่ เพราะมีการยกเลิกเงื่อนไขของโครงการ ยกเลิกรายการสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะไปกำกับดูแลการเข้าร่วมร้านค้า เช่น ร้านทอง ร้านเหล้าไม่สามารถเข้าร่วมได้ ดังนั้นหากเป็นร้านโชห่วยสามารถซื้อได้หมด รัศมีการใช้จ่ายยังเป็นในพื้นที่อำเภอ รวมถึงสามารถใช้จ่ายค่าเทอม เครื่องใช้ไฟฟ้า ค้าไฟฟ้า น้ำประปาได้

สำหรับเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่างฝ่ายต่างยืนกระต่ายขาเดียวไม่ทบทวน ทั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่จะให้ถอนชื่อ “อดีตนายกฯ แม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ออกจากญัตติ ทาง “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้าน ยืนยันว่า ประธานสภาบรรจุญัตติได้ ไม่ถูกฟ้อง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 124 คุ้มครอง ส่วน “สส.ใบพลู” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. บอกว่า “สมัยนายวันมูหะมัดนอร์เป็น สส.ก็เคยเสนอญัตติตั้ง กมธ.โดยมีชื่อคน” เลยโดน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล สอนให้ว่า “ญัตติตั้ง กมธ.กับไม่ไว้วางใจเป็นคนละอย่างกัน”

“ถ้าฝ่ายค้านไม่แก้ญัตติ ก็ไม่สามารถบรรจุวาระได้ ก็ไม่ต้องมาประชุมกับผม เรื่องข้อบังคับ ข้อกฎหมายไม่ใช่เรื่องเล็ก ครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ของสภา ที่ฝ่ายค้านอยากอภิปรายบุคคลภายนอก จะเป็นวัฒนธรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน ถ้าฝ่ายค้านไม่แก้ญัตติก็เปิดอภิปรายไม่ได้ จะเปิดอภิปรายทันในสมัยประชุมสภานี้หรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องของผม”

ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามเป็นหนังสือของ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. ถาม รมว.แรงงาน เรื่องอุปสรรคการผลักดันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท “โกเกี๊ยะ” พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ตอบกระทู้ตอนหนึ่งว่า กลุ่มเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบถ้าขึ้นค่าแรง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำไตรภาคี ก่อนที่จะหมดวาระในวันที่ 13 มี.ค. แต่ยังต้องรักษาการจนกว่าจะสรรหาใหม่

“ผมยังมีความมุ่งหวังเรื่องขึ้นค่าแรง ขอฝากไปยังสปิริตของคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำว่าจะช่วยได้อย่างไรบ้าง แม้ว่าจะกระทบ ก็ขอให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนการขึ้นค่าแรงจาก 400 บาทถึง 600 บาทภายในปี 2570 ที่เคยพูดเอาไว้ ต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอัตราการเจริญเติบโตจีดีพี พิจารณาอัตราเงินเฟ้อไทยว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่จะมีการขึ้นค่าแรงถึง 600 บาท” รมว.แรงงาน กล่าว
ต่อมา พิจารณากระทู้ถามของ นายชูชีพ เอื้อการณ์ สว. ถาม รมว.แรงงาน เรื่องผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเอสเอ็มอี รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตนรับที่จะหารือกับ รมว.คลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในหลายประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเอสเอ็มอี ว่าควรจะดูแลอย่างไร ส่งเสริมการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัจจุบันสถานประกอบการต่างๆ มีการดำเนินการตั้งสหกรณ์ได้กรณีที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ปัจจัยที่สำคัญคือเจ้าของกิจการจะร่วมสนับสนุนได้อย่างไร และผู้ใช้แรงงานพนักงานในบริษัทจะรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์อย่างไร

“กระทรวงแรงงานคิดว่าเมื่อผู้ใช้แรงงานได้เกษียณอายุไปจะทำอย่างไร ตอนนี้อยู่ในช่วงของการทำประชาพิจารณ์คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ว่าหากเกษียณอายุ 60 ปีไปแล้ว ยังมีอายุอีก 20 ถึง 30 ปี จะมีเงินอะไรให้สามารถยังชีพอยู่ได้หากไม่มีบุตรหลานคอยดูแล กระทรวงแรงงานคิดทุกวิถีทางที่จะใช้เงินประกันสังคมลงทุน หากอีก 2 ปีข้างหน้าได้ดอกผลดี จะพิจารณาต่อว่ากองทุนประกันสังคมจะให้เงินสำหรับสงเคราะห์ผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไรเพื่อยังชีพ ซึ่งคนไทยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80 ปี”
ประกันสังคมก็หาทางลงทุน ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่แข็งขันในการตรวจสอบการใช้เงินของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่หน้าอาคาร SKYY9 Centre พระราม 9 “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ และสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรค ปชน.ร่วมกันแถลงข่าวกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซื้ออสังหาริมทรัพย์ย่านพระราม 9 ที่มีข้อสงสัยถึงปัญหาธรรมาภิบาล ไอซ์ รักชนก กล่าวว่า สปส.ซื้อตึกมูลค่า 3 พันล้านบาท ด้วยราคา 7 พันล้านบาทในปี 2565-2566 เป็นตึกร้างสร้างยังไม่เสร็จตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มีบริษัทแห่งหนึ่งซื้อตึกไปปรับปรุงซ่อมแซม เมื่อปรับปรุงเสร็จก็ประจวบเหมาะกับช่วงที่ สปส. ปรับแก้ระเบียบต่างๆ ทำการศึกษา และมีการตัดสินใจลงทุนพอดี

ตึกดังกล่าว ในช่วงปลายปี 2565 มีอัตราการเข้าทำกำไรหรืออัตราการเช่าอยู่ที่ 1% ซึ่ง สปส. ได้เข้าซื้อโดยมีการทำแผนงานที่สวยหรูเกินจริง อ้างถึงผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม จะมีผู้เช่าภายใน 2 ปีแรก 60% แต่เมื่อเริ่มดำเนินการกลับมีผู้เช่าในปีแรกเพียง 1-2% เท่านั้น ปัจจุบัน สปส.รายงานมีคนเข้าใช้ตึกประมาณ 40% แต่เป็นตัวเลขที่น่าสงสัย น่าจะมีการรวมผู้เช่าที่คาดว่าจะเข้ามาใช้ในอนาคตด้วย และตัวเลขจริงอาจอยู่ที่ 20-30% เท่านั้น ยังมีค่าบริหารจัดการรวมกับค่าจ้างกองทุนในการบริหารอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท ต่อให้มีคนมาเช่าใช้ 100% ก็ต้องใช้เวลา 30 ปีกว่าจะคืนทุน

ทำไม สปส. ถึงตัดสินใจใช้เงิน 7 พันล้านบาทในการลงทุนตึกแห่งเดียว แทนที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังแหล่งอื่นๆ สปส. ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์แบบนี้ แล้วทำไมถึงยังลงทุนในตึกแห่งนี้ ขอให้ช่วยกันขุดว่าตึกนี้มีใครเป็นเจ้าของ ตึกนี้ปรับปรุงเสร็จเมื่อต้นปี 2565 หลังจากพร้อมใช้งานก็พร้อมขายต่อให้ สปส. เป็นการตกแต่งหน้าตาของตึกโดยรู้อยู่แล้วว่า สปส. พร้อมจะซื้อเลยหรือไม่ ในปีที่มีการลงทุนซื้อตึกนี้ก็เป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใดมาหากินโดยเอาส่วนต่างของประกันสังคมไปเป็นทุนทรัพย์ในการเลือกตั้งหรือไม่
นายสหัสวัต กล่าวว่า นายกฯ ควรตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการซื้อตึกนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจในการอนุมัติคือเลขาฯ สปส. ซึ่งในขณะนั้นคือ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่เคยออกมาตอบคำถามใดๆ รวมถึงอดีต รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

ทำเอา “อดีต รมว.แรงงาน เฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น” ซึ่งขณะนี้เป็น รมช.พาณิชย์ โต้ทันทีว่า การซื้อตึก ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวแม้กระทั่งรับรู้ การซื้อขายนั้นจะใช้การประเมินโดยบริษัทที่มีใบอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ การเช่าที่ในตึกขณะนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 60% มีการเช่าอยู่ 50% ตอนนี้รายได้ที่เข้ามามันมีกำไรเป็นบวกหมดแล้ว คนที่ออกมาพูดว่าลงทุนคืนทุน 30 ปี นั้น บ่งบอกว่าไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน สปส. ลงทุนเพื่อเอาผลตอบแทนรายปี ที่มากกว่าการฝากธนาคาร เอาเงินมาลงทุนตรงนี้ได้ผลตอบแทน 3-5% ต่อปี
“ในพื้นที่ตรงนั้นค่าก่อสร้าง ค่าที่ก็ขึ้น อีก 10 ปี ตึกราคาขึ้นไปเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท ได้กำไรทั้งตึก ทั้งผลตอบแทนไหม ผมถามแค่นี้ ส่วนคนพูดไม่ใช่นักลงทุน ไม่มีความรู้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามาเกี่ยวโยงกับผมอย่างไร หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองที่ผมต้องแข่งขันกับนายสหัสวัต ที่จังหวัดชลบุรีหรือเปล่า ผมไม่ทราบว่า ใครเป็นเจ้าของตึก การลงทุนของ สปส.ไม่ได้ซื้อตึกเดียว มีการลงทุนนอกประเทศหลายหมื่นล้านบาท ขอถามกลับคำหนึ่งว่า ตึกที่ซื้อนี้ เป็นทรัพย์สินของประกันสังคม ที่ดินขึ้นราคาทุกวันหรือไม่ แล้วยังเป็นที่เช่าด้วย วันหนึ่งราคาขึ้นขายได้กำไรมหาศาล แถมได้ค่าเช่าด้วย แบบนี้ไม่ถือว่าคุ้มหรือ แล้วคุณมาบอกว่าคืนทุน 30 ปี แล้วไม่คิดหรือว่า ในอีก 30 ปี ตึกนี้ราคาจาก 7 พันล้านบาท จะขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท คนพูดกล่าวถึงใครก็ขอให้รับผิดชอบคำพูดตัวเอง”
ก็รอดูวิวาทะเรื่องประกันสังคมกันต่อ ยิ่งตรวจสอบประชาชนยิ่งได้ประโยชน์
“ทีมข่าวการเมือง”