สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่า บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟกต์ (Butterfly Effect) ซึ่งเป็นผู้ผลิต “เมนัส” (Manus) เปิดเผยว่า เอไอตัวนี้คือผู้ช่วยที่ล้ำหน้ากว่าแชตบอตแบบอื่น เพราะสามารถทำทุกอย่างได้ ตั้งแต่วิเคราะห์ตลาดหุ้น ไปจนถึงสร้างคู่มือการเดินทางส่วนบุคคลพร้อมคำแนะนำ

ในวิดีโอที่เผยแพร่ทางออนไลน์ นายจี้ อี้เชา หรือพีค ซึ่งเป็นผู้ร่วมพัฒนาเมนัส ยกย่องเอไอตัวนี้ว่าเป็น “การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรแบบใหม่ และถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ของเอจีไอ” ซึ่งหมายถึงปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Artificial General Intelligence) ที่สามารถคิดได้เหมือนกับมนุษย์

เมนัสได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แม้ในปัจจุบันจะยังเปิดให้ใช้งานแค่ในหมู่ผู้ที่ได้รับคำเชิญเท่านั้น ขณะที่บนแพลตฟอร์มดิสคอร์ด (Discord) อย่างเป็นทางการของเมนัส มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 170,000 ราย

นายมาโนช ฮาร์จานี นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ดีปซีคและแชตจีพีทีแตกต่างจากเมนัสตรงที่ระบบเหล่านี้ให้คำตอบจากการป้อนคำสั่ง แต่เมนัสสามารถดำเนินการต่าง ๆ เช่น จองตั๋ว หรือจัดเรียงเรซูเมสมัครงาน

อย่างไรก็ตาม เมนัสเดินอยู่บนเส้นทางที่แตกต่างไปจากเอไอตัวอื่น คือการจำกัดการทดลองใช้รุ่นเบตาแค่ในหมู่ผู้ที่ได้รับคำเชิญเท่านั้น

นอกจากนี้ เป้าหมายของเมนัสยังเป็นลูกค้าระดับองค์กร โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า เมนัสอาจไม่สามารถดึงดูดผู้คนได้มากเท่าดีปซีคหากยังคงใช้ระบบนิเวศแบบปิดเช่นนี้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีซึ่งได้รับรหัสคำเชิญเข้าใช้เมนัส เปิดเผยว่า ผู้ช่วยเอไอตัวนี้ใช้เวลานานกว่าดีปซีคในการตอบกลับ แต่ก็สามารถทำตามคำสั่งซึ่งยากกว่าได้ เช่น การสร้างเว็บไซต์ที่กำหนดเองได้

สิ่งที่ทำให้เมนัสแตกต่างจากดีปซีค คือการตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนของจีนได้อย่างแม่นยำ และไม่มีการเซ็นเซอร์ เช่น เกี่ยวกับการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมนัสให้คำตอบว่า “รัฐบาลจีนได้ดำเนินการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง” รวมถึงคำตอบที่ครบถ้วน เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

นักวิเคราะห์เสริมว่า เมนัสอาจไม่ใช่ดีปซีคตัวต่อไป เนื่องจากทั้งสองเป็นแอปพลิเคชันเอไอคนละประเภท แต่ทิศทางในอนาคตของเครื่องมือตัวนี้จะขึ้นอยู่กับพลังการประมวลผลที่เพียงพอ และการจัดการกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงความเสถียรทางเทคนิค และการพิจารณาทางจริยธรรม หรือกฎระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ.

เครดิตภาพ : AFP