สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ว่า โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี เนื่องจากการปล่อยที่เพิ่มขึ้น แต่อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ อยู่เหนือแนวโน้มในระยะยาว จนนักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันว่า การคาดการณ์สภาพอากาศยังมีความแม่นยำหรือไม่

อนึ่ง ทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้เกิดคลื่นความร้อนทางทะเล ซึ่งส่งผลต่อลมมรสุม ทำให้พายุหมุนเขตร้อนรุนแรงขึ้น ตลอดจนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร

ระหว่างเดือน มี.ค. 2566 ถึงเดือน เม.ย. 2567 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.25 องศาเซลเซียสจากสถิติเดิม นับว่า “สูงมาก” ในแง่ของสภาพอากาศ แต่นายเยนส์ เทอร์ฮาร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เหตุการณ์ข้างต้น “เกิดขึ้นได้ยาก” และมีการคาดการณ์ว่ามันจะเกิดขึ้นทุก ๆ 500 ปี โดยประมาณ ตามแนวโน้มภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่า อัตราการเกิดภาวะโลกร้อน อาจเร่งขึ้นได้หรือไม่ และเหตุการณ์ดังกล่าว ขัดต่อการคาดการณ์ของแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุด ซึ่งพวกเขาใช้เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมของสภาพอากาศหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เทอร์ฮาร์กล่าวว่า อุณหภูมิในมหาสมุทรที่สูงเป็นประวัติการณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะโลกร้อนที่เร่งตัวขึ้นอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเชื่อว่า ภาวะโลกร้อนจะมีแนวโน้มเป็นเส้นตรง แต่เชื่อว่าการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น จะทำให้การเร่งตัวเกิดขึ้นตามไปด้วย.

เครดิตภาพ : AFP